Water Hack การจัดการน้ำและมลพิษชายฝั่ง

23 – 25 กันยายน 2565 จังหวัดระยอง

ชวนอ่าน 7 ไอเดียโดยน้อง ๆ ผู้เข้าร่วมจากกิจกรรม Water Hack!
ทุกทีมตั้งใจเรียนรู้และลงมือทำตลอดกระบวนการด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและสนุกสนาน ขอยินดีกับน้องๆ ทีมที่ได้รับรางวัล และเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทุกทีมที่จะได้นำเอาไอเดียของตนเองไปพัฒนาต่อ และใช้ประสบการณ์ในกิจกรรมแฮกกาธอนไปปรับใช้กับการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่รอบตัวต่อไป เราต่างกำลังสร้างสังคมและโลกนี้ที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยกันค่ะ

เครือข่ายชาวประมงผู้พิทักษ์ — ทีม รู้ทะเล

ทีมรู้ทะเล ได้นำข้อได้เปรียบของกลุ่มประมงจังหวัดระยองที่มีอยู่เดิมมาต่อยอด เกิดขึ้นเป็นไอเดีย “เครือข่ายชาวประมงผู้พิทักษ์” ที่จะอาศัยความร่วมมือกันของเรือประมงของจังหวัด ในการติดตามสอดส่องปัญหาคราบน้ำมันกลางทะเล เพื่อให้สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ทางทีมได้หยิบเอาปัญหาคราบน้ำมันรั่วที่หาดแม่รำพึงเมื่อต้นปี 2565 มาเป็นกรณีศึกษา และได้ค้นพบว่าการแจ้งเตือนส่งต่อถึงหน่วยงานที่ล่าช้าจะเป็นสาเหตุให้ปัญหาขยายวงกว้างขึ้น หรือกล่าวได้ว่า 9 ชั่วโมงที่ช้าไปในการดำเนินการต้องแลกมาด้วยระยะการฟื้นฟูธรรมชาติถึง 8 ปี หรือยาวนานกว่านั้น

ทางกลุ่มได้ไปสอบถามปัญหาจากชาวประมงที่ท่าเรือโดยตรง และจากผลการค้นคว้า ทีมพบว่าชาวประมงที่จังหวัดระยองมีการเดินเรือหาหมึกกันอยู่แล้วทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืนตามแต่สภาพอากาศ ประกอบกับมีเรือเดินสมุทรจำนวนมาก หากแบ่งพื้นที่ลาดตระเวนกัน อย่างน้อยใน 1 พื้นที่ จะสามารถมีเรือสอดส่องได้อย่างทั่วถึง

ข้อได้เปรียบที่เหลือ คือ ทางชาวประมงเป็นเจ้าของพื้นที่เอง มีสำนึกรักบ้านเกิดและหวงแหนพื้นที่ทำกิน หากมีปัญหาน้ำมันรั่วก็จะไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ประกอบกับพวกเขามีความเป็นเครือข่ายประมงอยู่แล้ว ทำให้สามารถไปขอความร่วมมือและต่อยอดได้ง่าย

เครือข่ายชาวประมงผู้พิทักษ์ จะมีการประสานงานกันระหว่างกรมเจ้าท่าและชาวประมงในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยเมื่อชาวประมงพบเจอคราบน้ำมันในทะเลจะแจ้งเหตุไปยังกรมเจ้าท่า ที่จะประสานงานไปยังสถานีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและประสานงานหน่วยงานต่างๆ ให้เข้าไปปฏิบัติการ ทางฝั่งของชาวประมงจะเก็บข้อมูลและรวบรวมตัวอย่างน้ำ พอกลับมาถึงฝั่งจะส่งตัวอย่างน้ำไปให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบ ซึ่งหากปฏิบัติการเป็นขั้นตอนเช่นนี้ จะทำให้กรมเจ้าท่าสามารถปฏิบัติงานได้ทันที

งบประมาณของโครงการนี้อยู่ที่ 500,000 บาท เพื่อเป็นต้นทุนในค่าอบรม ค่าชุดและอุปกรณ์ รวมไปถึงค่าสวัสดิการที่จะจูงใจให้เหล่าชาวประมงในเขตพื้นที่ต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตากันมากขึ้น โดยจะมีสิทธิพิเศษในการยกเว้นค่าธรรมเนียมเรือ

ระบบการตรวจจับและจัดการน้ำมัน — ทีม THE WiNNeR

ที่มาของระบบมาจากการสอบถามปัญหากับพี่ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำจืดจากกรมควบคุมมลพิษ ทีมของน้องๆ พบว่ากระบวนการจัดการคราบน้ำมันในทะเลปัจจุบัน กำลังประสบปัญหาในการประสานงานและจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วที่ต้องใช้ทั้งเวลาและขั้นตอน ทำให้เกิดความล่าช้า อีกทั้งยังทราบปริมาณการไหลของน้ำมันได้ยากเนื่องจากอาจได้รับการแจ้งเหตุที่เป็นเท็จและไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้อันเป็นผลมาจากตัวแปรหลายอย่าง เช่น ลม กระแสน้ำ

ด้วยเหตุนี้ทีม THE WiNNeR จึงได้นำเสนอไอเดีย “ระบบการตรวจจับและจัดการน้ำมัน” ด้วยการจำลองสถานการณ์และให้ผู้รับผิดชอบ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) กรมเจ้าท่า หน่วยงานของกองทัพเรือ และหน่วยงานของจังหวัดในพื้นที่เกิดเหตุ นำไปปฏิบัติการ

วิธีการดำเนินการจะใช้ประโยชน์จากดาวเทียม Long Range ซึ่งจะชี้จุดบริเวณที่มีเหตุน้ำมันรั่วเกิดขึ้น จากนั้นจึงใช้โดรน UAV ตรวจสอบภาพมุมสูงเพื่อคำนวณปริมาณน้ำมัน แล้วจึงประสานงานกับกรมเจ้าท่า เมื่อใช้วิธีการนี้ เราจะสามารถคำนวณปริมาณที่มีค่าใกล้เคียงกับน้ำมันที่รั่วไหลออกไปได้มากที่สุด หลังจากนั้นจึงทำการคำนวณปริมาณสารเคมีที่เอาไว้ใช้ลดแรงตึงผิวของน้ำมัน เมื่อคำนวณแล้วจะทราบปริมาณสารเคมีที่เหมาะสมในการฉีดพ่นแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จะมีการนำมาแสดงและวิเคราะห์โดยการทำเป็น Dash Board แสดงข้อมูลให้ทางฝั่งผู้บริหารสามารถตัดสินใจและดำเนินการกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ทันที และสามารถนำ OrbitalEOS มาใช้ประโยชน์ในการคาดคะเนการเคลื่อนที่ของน้ำมันได้

ไอเดียนี้ นอกจากจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแล้ว ยังลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การประมงที่เป็นรายได้หลักของผู้อาศัยอยู่ริมชายฝั่งอีกด้วย และยังแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานชัดเจนทำให้ภาครัฐสามารถดำเนินการได้ง่ายยิ่งขึ้น

Hydrogeology Consultancy — ทีม Wature

ทีม Wature มาพร้อมกับไอเดียการ optimize การใช้น้ำในเขต EEC โดยจุดเริ่มต้นมาจากการระบุปัญหาน้ำแล้งที่จะเกิดขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเห็นปัญหาว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงสามารถอยู่รอดด้วยตนเองได้ ทว่าภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากคือภาคเกษตรกรรม

ในปัจจุบันมีการการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำโดยตัดน้ำภาคการเกษตรกับครัวเรือน การรณรงค์ให้ใช้น้ำลดลง ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการแก้ปัญหายังมีการซื้อน้ำจาก East Water ซึ่งแทบจะผูกขาดการจัดการน้ำในพื้นที่เอาไว้ ส่วนน้ำบาดาลก็มีต้นทุนสูงและสามารถควบคุมคุณภาพได้ยาก

ทางทีมจึงได้เสนอแนวทางอื่นเพื่อทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ โดยการใช้วิธี Variable Cost Water (Benchmark) มาประกอบการคิดราคาตามปริมาณน้ำที่ใช้

เช่น สร้างมาตรฐานการใช้น้ำไว้ที่ 1 ลิตร ถ้าหากมีบริษัทใดใช้มากกว่า 1 ลิตร คือใช้มากเกินความจำเป็น ต้องจ่ายค่าน้ำในราคาที่สูงขึ้น

หรืออีกวิธีหนึ่งจะเป็นการใช้วิธี Variable Cost Water (Bidding) ซึ่งจะจัดให้มีการประมูลน้ำ ผู้ประมูลไปต้องปรับไลน์การผลิตให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ประมูลมาได้

นอกจากนี้ หากมีการนำน้ำมารียูสจะทำให้สามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 20% โดยถ้าหากบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมสามารถพัฒนาการจัดการน้ำในเขตของตนเองได้ทั้งหมด น้ำที่ใช้ก็จะลดลงไปมาก

อิคคิว ซั้ง — ทีม ซั้งสร้างฝัน

“อิคคิว ซั้ง” ตาข่ายกักเก็บขยะแบบใหม่ที่ใช้ประโยชน์จาก “ซั้ง” ปะการังเทียมที่สร้างขึ้นมาจากเส้นใยป่านใบศรนารายณ์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของกลุ่มประมงเก้ายอดในจังหวัดระยอง

ทีมซั้งสร้างฝัน พบปัญหาจากขยะที่ลอยตามน้ำมากองรวมกันอย่างรวดเร็วมากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ สร้างความลำบากแก่ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งต้องใช้กระชอนตักเก็บ นอกจากนี้ ตาข่ายแบบเดิมที่ใช้กักเก็บขยะนั้นก็ย่อยสลายได้ยาก หากมีการฉีกขาดและหลุดลอยไปพร้อมกับกระแสน้ำจะเป็นการสร้างภาระขยะมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้น การใช้ซั้งที่ถักทอมาจากเส้นใยธรรมชาติจึงสามารถตอบโจทย์ปัญหานี้ได้

ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากกักเก็บขยะแล้ว ทางกลุ่มยังมีไอเดียกำจัดมลพิษที่อาจมาพร้อมกับขยะ โดยการแยกเศษไม้ต้นโกงกางที่ติดมากับขยะ นำเอาไปทำเป็นถ่านไม้ Activated Charcoal ผสมด้วยสารแคลเซียมคลอไรด์ เพื่อทำเป็นฟิลเตอร์กรองน้ำมัน โดยมีการนำผ้ามากรองหลายชั้นเพื่อไม่ให้ถ่านหลุดลอยไปกับน้ำที่กรอง

วิธีการใช้คือการนำตาข่ายซั้งไปขึงกั้นทางน้ำไหล ขยะที่ลอยมาตามน้ำจะเข้าไปในตาข่ายเอง พอสะสมขยะได้มากเกินพอปากถุงจะปิดลงด้วยน้ำหนัก หลังจากนั้น ทางชาวบ้านจึงสามารถพายเรือท้องแบนเข้ามาเก็บขยะได้ ทำให้ระบบน้ำและทัศนียภาพดีขึ้น สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชนได้

สาเหตุที่เลือกใช้ซั้งนั้นเพราะราคาถูกและใช้ตามได้ง่าย เนื่องจากทางทีมได้สำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่แล้วพบว่าไม่สะดวกหากจะใช้เครื่องจักรใหญ่ การใช้ซั้งจะเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้วัสดุที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่นและชุมชนทั่วไป โดยหากนำไปให้ชาวบ้านใช้ ชาวบ้านก็จะสามารถสานต่อและดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ด้วยตนเอง

Ocean Drone — ทีม Future Fast and Furious Hack

ทีม FF&FH ได้นำเสนอโมเดลโรบอทเก็บขยะ Ocean Drone ซึ่งเป็นโดรนสำรวจพื้นที่ทางทะเลและเก็บขยะ โดยเฉพาะซากแหและอวนที่ติดอยู่ตามปะการังขึ้นมา

ทางทีมพบปัญหาซากอวน แห และขยะอื่นๆ ตามแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นตามอ่าว ทะเล แม่น้ำ คลอง ต่างๆ ซึ่งปัญหาขยะเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล สัตว์น้ำล้มตาย ประกอบกับสารไมโครพลาสติกที่มาพร้อมกับแหอวนซึ่งย่อยสลายได้ยาก ถ้าไม่รีบเก็บขึ้นมาโดยเร็วในขณะที่ยังเป็นขยะชิ้นใหญ่ จะทำให้กระบวนจัดเก็บและกำจัดขยะลำบากมากยิ่งขึ้น

ที่ตัวของอุปกรณ์จะติดตั้ง GPS ทำให้สามารถระบุแนวปะการังและแนวโน้มที่จะสามารถไปเก็บกู้ซากได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถวัดค่าออกซิเจน ความเป็นกรด-ด่างในน้ำทะเล และสามารถคำนวณระยะทางของพื้นที่ทะเลได้ ว่าจุดที่มีแหอวนติดอยู่นั้น มีระยะห่างจากจุดที่เราระบุไปเป็นระยะเท่าใด

หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Ocean Drone คือเป็นอุปกรณ์ที่ลดเวลาการสำรวจและการต้องมีนักประดาน้ำผู้เชี่ยวชาญในการลงทะเลไปจัดเก็บซากขยะเหล่านี้ขึ้นมา

การใช้นักประดาน้ำในการเก็บซากแหอวนนั้นต้องใช้อุปกรณ์ดำน้ำซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งต้องมีผู้เชี่ยวชาญ และยังทำให้เสียเวลาในการเก็บกู้เป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนถังแก๊สออกซิเจน ทำให้ภายในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมง นักประดาน้ำต้องขึ้นมาสูดอากาศหายใจที่เหนือผิวน้ำ ในขณะที่โดรนตัวนี้ จะมีระยะเวลาการทำงานอยู่ที่ประมาณ 3 ชั่วโมง อีกทั้งการใช้โดรน ยังสามารถลดความเสี่ยงเสียชีวิตของคนที่จะลงไปเก็บกู้ซากขยะกลับขึ้นมาด้วย

มลพิษขยะจากน้ำที่ถูกมองข้าม — ทีม Wasteverse

Wasteverse มีที่มาจากแนวคิดทำให้ขยะที่ถูกทิ้งในแหล่งน้ำย้อนกลับ (reverse) เข้าสู่ระบบจัดการขยะ

จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากการกำหนดปัญหาขยะที่พบเจอบนชายฝั่งระยอง ซึ่งเกิดจากการจัดการที่ไม่เหมาะสม ภายหลังจากที่ทีมได้ไปทำการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบการบริเวณชายฝั่ง จึงเกิดโจทย์ขึ้นมาว่า “ทำไมคนถึงไม่แยกขยะ”

ไอเดียรถ All in One ที่สร้างระบบล้างขวด รวบรวม และแยกขยะไว้ในคันเดียวจึงถือกำเนิดขึ้น

รถคันนี้จะทำหน้าที่เป็นระบบจัดการขยะเคลื่อนที่ เนื่องจากทางทีมพบเห็นปัญหาจากการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญว่า การที่ผู้คนไม่แยกขยะอาจมีสาเหตุมาจากต้นทุนในการแยกขยะสูง เนื่องจากต้องเสียน้ำประปาในการล้างภาชนะ อีกทั้งยังเสียเวลาในการแยก เพราะฉะนั้นหากเรามีสถานีที่ช่วยแยกขยะแบบเคลื่อนที่ ทั้งยังสามารถทำความสะอาดภาชนะให้ได้ ก็จะสามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้

โดยกระบวนการจัดการในสถานีนั้น ในการล้างภาชนะ จะนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากนิคมอุตสาหกรรม WHA มาใช้ โดยทางทีมได้ค้นคว้ามาแล้วว่า น้ำจากนิคมดังกล่าว มีคุณภาพน้ำเทียบเท่าคุณภาพน้ำผิวดินระดับ 3 ถือเป็นการนำแหล่งน้ำที่มักถูกมองข้ามไปมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์

นอกจากนี้ ทางโครงการนี้จะยังมีการพัฒนาแอพลิเคชัน โดยทำเป็นระบบ member และ reward เพื่อจูงใจให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการเพิ่มขึ้น และยังได้เสริมข้อมูลให้ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะเอาไว้อีกด้วย

From Waste to Bracelet — ทีม BraceBeach

เพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งด้วยการทำเป็นกำไลข้อมือ

ต้นแบบไอเดียของ BraceBeach มาจากพบเห็นว่าบริเวณชายหาดแม่รำพึงมีขยะจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงมรสุมที่ชายฝั่งประสบปัญหาขยะล้น ทางทีมได้ลงไปสำรวจพื้นที่และสอบถามโรงแรมร้านค้าริมหาด ค้นพบว่า ขยะส่วนใหญ่ที่พบเจอเป็นขยะพลาสติก และส่วนใหญ่เป็นฝาขวด

ซึ่งโดยปกติแล้วทางร้านค้าและโรงแรมริมหาดจะต้องมีการเก็บขยะหน้าพื้นที่ทำกินของตนเองเพื่อการประกอบอาชีพ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดการขยะ ที่ทั้งทางผู้ประกอบการริมหาดและทางนักท่องเที่ยวจะมีการทิ้งขยะแบบรวมกัน เพราะฉะนั้น ทีม BraceBeach จึงได้ไอเดียใหม่ที่จะทั้งเพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งและดึงดูดให้คนแยกขยะก่อนทิ้งอีกด้วย

โดยมีวิธีการ คือ การตั้งร้านค้าริมหาด เปิดให้คนที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นหรือผู้ที่มาท่องเที่ยว สามารถเก็บฝาขวดมาแลกเอากำไลข้อมือได้ โดยกำไลข้อมือนั้นจะถูกผลิตขึ้นมาจากฝาขวดพลาสติกที่พวกเขาเก็บมาแลกเรื่อยๆ นี้เอง วิธีดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มมูลค่าพลาสติก และดึงดูดให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บขยะริมหาดมากยิ่งขึ้น

กำไลที่เอามาแลกฝาขวดนั้น จะมี QR code ที่เมื่อสแกนเข้าไป จะปรากฏหน้าเว็บเป็นภาพชายหาด เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ในครั้งนี้ คุณได้มาช่วยเก็บขยะที่ชายหาดนี้ไว้นะ”

“สิ่งที่ได้จากโครงการจะไม่ใช่กำไล แต่เป็นช็อปเล็กๆ ช็อปหนึ่ง ถ้าช็อปมีรายได้ขึ้นมาเอง ชุมชนหรือพื้นที่ใกล้ๆ จะสามารถทำงานต่อได้”