River Hack อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขง

9 – 11 ธันวาคม 2565 จังหวัดหนองคาย

ชวนอ่านไอเดียจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม River Hack ทั้ง 7 ทีมกันค่ะ เป็นไอเดียสำหรับทางออกของปัญหาที่ท้าทาย เน้นประเด็นการปกป้อง รักษา และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ Biodiversity Conservation และส่งเสริมการปรับตัวของคนในชุมชนริมฝั่งโขง ผ่านกระบวนการ Hackathon ศึกษาข้อมูล พูดคุยสัมภาษณ์กับผู้ได้รับผลกระทบ ระบุปัญหาที่แท้จริง และหาทางออกเป็นไอเดียที่จะช่วยแก้ไขปัญหาภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง
 
ตลอดกระบวนการ Hackathon ทุกทีมสามารถบริหารเวลาและทำตามกระบวนการทำงานจนได้ออกมาเป็นไอเดียเจ๋งๆ และไอเดียเหล่านี้จะยังไม่หยุดนิ่งเพียงเท่านี้ เพราะแต่ละไอเดียสามารถนำไปพัฒนาต่อโดยเจ้าของไอเดีย และเชื่อมโยงกับหน่วยงานหรือองค์กรที่จะสามารถสนับสนุนเพื่อแก้นำไปลงมือปัญหาจริงได้
 
ขอแสดงความยินดีและดีใจกับเหล่า Hacker ทุกทีมนะคะ ทาง EnvironHack จะหาทางเชื่อมโยงให้น้องๆ ได้พัฒนาไอเดียต่อและลงมือทดลองทำตามไอเดียของตัวเองต่อไปค่ะ
 
การเข้าร่วมแฮ็คในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ทุกคนจะได้หยิบจับกลับไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวเอง และช่วยกันทำให้สังคมของเราอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
 
ขอขอบคุณวิทยากร เมนเทอร์ และพี่ๆ ในชุมชนบ้านม่วง ที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม River Hack ค่ะ

ทีม ลาลาลอย

อนุบาลปลาโขง

จากสาเหตุปริมาณน้ำโขงที่ไม่คงที่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ไคร้น้ำและจำนวนประชากรปลามีจำนวนลดลงซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมกับการจับปลาแบบผิดๆ เช่น การช็อตปลา การวางระเบิด ทำให้จำนวนปลาหลายสายพันธุ์มีปริมาณลดลง

กลุ่มของเราได้พบและพูดคุยกับผู้คนในบ้านหนอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม ทั้งคุณป้าในชุมชน คุณลุงนักอนุรักษ์อิสระ และคุณยายแม่ค้าในชุมชน ทุกคนบอกว่าอยากได้วิถีการประมงและชีวิตดั้งเดิมกลับคืนมา เราจึงตั้งใจแก้ปัญหาให้กับชุมชนชาวประมงที่ต้องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาและเพิ่มจำนวนปลาอย่างยั่งยืน

วิธีการแก้ปัญหาคือ เราจะออกแบบบ้านปลาด้วยคอนกรีต ให้เป็นที่พักพิงปลาและอนุบาลสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก โดยออกแบบการวางบล็อกคอนกรีตแบบขวางทางน้ำเพื่อช่วยลดกระแสน้ำให้ไม่ไหลแรงและให้สอดคล้องกับระบบน้ำขึ้นและหน้าน้ำลงของแม่น้ำโขง มีพื้นที่บนคอนกรีตให้พืชน้ำได้เกาะอาศัยเกิดห่วงโซ่อาหาร

จุดพื้นที่อนุบาลปลาโขง ตั้งอยู่ติดกับวัด อาศัยเขตอภัยทานของวัดให้เป็นพื้นที่งดการจับสัตว์น้ำ เมื่อมีปลาและพืชพรรณต่างๆ กลับมามากขึ้น จะทำให้มีปลาท้องถิ่นดั้งเดิมกลับมาอาศัยในบริเวณนั้น มีความร่วมมือจากคนในชุมชนมาร่วมกันทำกิจกรรมอนุรักษ์ปลาอย่างยั่งยืน และต่อไปสามารถพัฒนาพื้นที่วัดและโดยรอบให้เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสามารถบูรณาการร่วมกันระหว่างวัดไทยและวัดลาวซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกัน
นอกจากนี้ ยังสามารถส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ร่วมกันผลิตอาหารปลา โดยตั้งโรงงานขนาดวิสหกิจชุมชนผลิตอาหารปลาจากวัตถุดิบผลผลิตที่สามารถเพาะปลูกในท้องถิ่น เกิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการทำอาชีพประมง

โครงการอนุบาลปลาโขง ยังสามารถขยายพื้นที่ตั้งจุดอนุบาลได้ตลอดพื้นที่ที่มีวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้เกิดจุดอนุบาลปลาได้มากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำดีขึ้น จำนวนประชากรปลาเพิ่มขึ้น ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพได้ดีขึ้น

ทีม เด็กโขง

WARN

ปัญหาความผันผวนที่ไม่สามารถคาดเดาได้ของระดับแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยริมฝั่งโขง เช่น พื้นที่ริมฝั่งหายไป การนำเรือขึ้นลงยากลำบาก ไม่สามารถประเมินสถานการณ์เพื่อออกแบบการจัดการที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตได้

จากการเข้าไปในชุมชนบ้านม่วงและสอบถามผู้คน ทำให้ได้รู้ว่า ปัญหาดินถล่มจากน้ำเซาะ ส่งผลให้ไม่สามารถเพาะปลูกผักริมโขงได้เหมือนเดิม ส่งผลต่อการทำกระชังปลาทำให้ปลาว่ายออกจากกระชังและเมื่อน้ำลงก็ไม่เหลือน้ำให้ปลาในกระชังอาศัย การทำประมงพื้นบ้านก็ไม่เหมือนเดิมเพราะคาดเดากระแสน้ำไม่ได้ ปลาที่เคยอาศัยในจุดที่เคยอาศัยก็หายไป สิ่งเหล่านี้กระทบต่อวิถีชีวิตและรายได้ของคนในชุมชน

เมื่อศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้กระแสน้ำขึ้นและน้ำลงของคนในชุมชน พบว่าก่อนปี 2564 มีการส่งข่าวแจ้งเตือนชุมชนผ่านระบบเอกสารราชการ ซึ่งมีความล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายกับคนในชุมชน แต่ในปัจจุบันจากการเรียกร้องเคลื่อนไหวของคนลุ่มน้ำโขง ทำให้คนในชุมชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารของภาครัฐเร็วขึ้น มีการสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์แจ้งข่าว แต่หลายคนก็พบว่าการรับรู้ข่าวยังช้าไปและไม่แม่นยำ เนื่องจากต้องรอการแจ้งจากเอกสารภาครัฐอยู่ดี

ทีมของเราจึงพัฒนานวัตกรรมตรวจวัด (Cencor) ระดับน้ำและแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ตามเวลาจริง (real time) โดยเพิ่มจุดติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับและความเร็วของน้ำอีก 2 จุด เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการคำนวณการขึ้นลงและความแรงของกระแสน้ำ โดยวิเคราะห์ข้อมูลนี้ร่วมกับข้อมูลของ GIS และ ดาวเทียม ส่งตรงไปยังไลน์ของผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานยังสามารถส่งข้อความไปในไลน์เพื่อขอรับข้อมูลได้ จะมีการให้ข้อมูลตอบกลับผ่านระบบ Chat Bot

เมื่อได้วิเคราะห์การคำนวณและประเมินสถานการณ์น้ำแล้ว พบว่าระบบจะมีความเร็วในการแจ้งเตือนเร็วขึ้น 58% และ มีความแม่นยำขึ้น 92% เมื่อหัวหน้าชุมชนได้รับข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำแล้ว ก็สามารถประกาศแจ้งผ่านเสียงตามสาย หรือส่งข่าวผ่านการบอกต่อของคนในชุมชนได้

นวัตกรรมนี้จะช่วยให้ชาวประมงลุ่มแม่น้ำโขงจำนวนกว่า 3,700 คนมาเป็นผู้ใช้งานที่สมัครรับข้อมูลการแจ้งเตือนที่รวดเร็วและแม่นยำ สามารถปรับวิถีชีวิตอย่างคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ รัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาชุมชน มีการจ่ายเงินของผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการประมงและผู้ประกอบการใดๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะได้รับข้อมูลที่ทำให้สามารถวางแผนธุรกิจล่วงหน้าและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการได้

ผลกระทบที่ต่อเนื่องคือจะทำให้มีชุดข้อมูลจากการเก็บข้อมูลและการศึกษาวิเคราะห์สำหรับการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดการน้ำร่วมกันได้อีกด้วย

ทีม ไคร้ เคียง โขง

ภารกิจพิทักษ์ราชินีแม่โขง

ไคร้ คือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สำคัญในเกาะแก่งลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะแถบจังหวัดหนองคาย ความผันผวนของน้ำโขงที่เป็นผลกระทบจากการกั้นเขื่อน รวมกับระบบนิเวศที่ถูกรบกวน ทำให้ต้นไคร้จำนวนมากหายไปจากเกาะแก่ง แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาก็หายไปด้วย

เมื่อย้อนดูภาพถ่ายทางดาวเทียมย้อนหลัง 10 ปี และนำข้อมูลก่อนและหลังการสร้างเขื่อนมาเปรียบเทียบ พบว่าหลังการสร้างเขื่อน จำนวนต้นไคร้ที่เคยมีปริมาณมากมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

กลุ่มของเราจึงมีไอเดียเพื่อเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ต้นไคร้บนเกาะแก่งน้ำโขงให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ปลาได้มาวางไข่และอยู่อาศัย พื้นที่ที่จะสร้างชุมชนต้นแบบอนุรักษ์ไคร้เคียงโขงตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านม่วง มีผู้เริ่มต้นในปีแรกจำนวน 10 หลังคาเรือน ซึ่งจะได้เข้าร่วมโครงการทำความเข้าใจและวางแผนร่วมกัน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนงานวิจัยพร้อมผลักดันในมิติต่างๆ

ลำดับของการทำงานคือการศึกษาวิจัยข้อมูลรวมทั้งสอบถามความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน > ศึกษาข้อมูลย้อนหลังผ่านภาพถ่ายดาวเทียมเกี่ยวกับปริมาณพืชและลักษณะทางกายภาพของน้ำ ตลิ่ง และเกาะแก่ง > ศึกษาสภาพแวดล้อมปัจจุบันโดยใช้โดรนประกอบ > จัดทำนวัตกรรมแพต้นไคร้เพื่อเพาะปลูกต้นกล้าแล้วนำไปปลูกในพื้นที่ที่มีศักยภาพ > สำรวจเพื่อติดตามผลโดยใช้โดรนที่มีเซนเซอร์ตรวจวัดความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณการอยู่รอดของต้นไคร้ โดยกำหนดขอบเขตหนึ่งร้อยตารางกิโลเมตรต่อต้นไคร้หนึ่งร้อยต้น

แพต้นไคร้ทำจากไม้ไผ่ก่ายกัน 4-5 ชั้น ให้มีช่องว่างสำหรับน้ำไหลผ่าน และเจาะลำไผ่เป็นระยะเพื่อใส่วัสดุธรรมชาติ เช่น ดิน ต้นผักตบชวา เพื่อให้รากของต้นไคร้สามารถยึดเกาะอยู่กับแพแบบจุ่มน้ำเพื่อให้พื้นที่ด้านใต้กลายเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ

ไอเดียแพต้นไคร้ สามารถต่อยอดพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ชวนคนในชุมชนสร้างผลิตภัณฑ์จากต้นไคร้ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่า ต้นไคร้มีฤทธิ์ทางยา สามารถสกัดเป็นน้ำชา และ นำสารสกัดเครื่องสำอางได้ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้หลากหลายทาง

ผลกระทบ 3 ด้านที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (ชะลอความเร็วของกระแสน้ำ, ช่วยอนุบาลปลา, ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ช่วยป้องกันตลิ่งพัง, มีจำนวนปลาเพิ่มขึ้น) ด้านสังคม (เพิ่มทักษะความรู้ให้กับคนที่เกี่ยวข้อง, เป็นฐานข้อมูลให้กับงานวิจัยและพัฒนา, เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับชุมชน และด้านเศรษฐกิจ (เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน, มีรายได้เพิ่มจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นไคร้)

ทีม เขื่อนกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

Constructed Wetland แดนพญานาค

เมื่อแม่น้ำโขงเริ่มป่วยจนนำไปสู่ปัญหาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ไม่สามารถเป็นบ้านให้กับสัตว์และพืชได้ดังเดิม ทีมของเราจึงออกแบบโมเดลสุดเจ๋งที่จะมาช่วยสร้างพื้นที่อาศัยเพื่อฟื้นคืนสิ่งมีชีวิตนานาชนิดลุ่มน้ำโขง

ด้วยการสร้าง Constructed Wetland บนพื้นที่ลุ่มน้ำและแผ่นดินให้ปลาและสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ได้สืบพันธุ์วางไข่ รวมถึงมีชีวิตรอดในลุ่มน้ำโขง โดยสร้างที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย จุดที่เป็นพื้นที่ราบกว้างเลียบแม่น้ำโขง

พื้นที่ดังกล่าวอยู่ตรงคุ้มน้ำที่มีโอกาสเกิดตลิ่งพังและเคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมาก่อนซึ่งสามารถสร้างให้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitate) ที่จะช่วยลดผลกระทบจากตลิ่งพังและช่วยสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ จากการสำรวจว่ามีสิ่งมีชีวิตและพืชพรรณอะไรบ้างในบริเวณลุ่มน้ำโขง เราต้องการให้สิ่งมีชีวิตและพืชพรรณเหล่านั้นกลับคืนมาในพื้นที่นี้ โดยออกแบบจากหลักธรรมชาติ สร้างโขดหิน ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น ไม้น้ำ พื้นทราย ตลิ่งริมฝั่ง ให้มีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์และอนุบาลสัตว์เล็กที่อาศัยในแม่น้ำโขง

ในระยะเวลา 3 ปีแรก จะเป็นการปรับพื้นที่ ออกแบบและก่อสร้างโครงสร้าง จากนั้นสร้างถิ่นที่อยู่ที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตริมฝั่งโขงทั้งพืชและสัตว์ สร้างฝาย และร่วมสนับสนุนให้สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติได้ฟื้นคืน โดยทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มธุรกิจพลังงาน

Constructed Wetland จะเป็นพื้นที่เฉพาะที่ทำให้สิ่งมีชีวิตที่เคยอยู่ร่วมกับแม่น้ำโขงได้ฟื้นคืนตามธรรมชาติของตนเองและกลับมาอาศัยในพื้นที่เดิมอย่างปลอดภัย เช่น ปลารากกล้วย ปลาเอิน นกยาง รวมทั้งพืชท้องถิ่น เช่น ต้นหวีด หรือไคร้น้ำ ซึ่งเมื่อธรรมชาติฟื้นตัว ชุมชนก็จะมีแหล่งอาหารเพิ่ม มีงานทำ ก่อเกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างยั่งยืน

ทีม ดุดัน...ไม่เกรงใจใคร

ไอเดีย บุ่งหลบภัยอัจฉริยะ

จากปัญหาคนท้องถิ่นริมฝั่งโขงรายได้หดหาย แหล่งอาหารลดลง ปลาเกลี้ยงน้ำโขง จากแม่น้ำโขงที่ทั้งแห้งและท่วมสืบเนื่องจากการปล่อยน้ำของเขื่อนเหนือสายน้ำทำให้ระดับน้ำผันผวน พวกเราได้ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนและพูดคุยกับชาวประมง บ้านห้วยค้อ อ.สังคม จ.หนองคาย และเสนอวิธีแก้ปัญหา นั่นคือ บุ่งหลบภัยอัจฉริยะ

บุ่ง คือ แอ่งน้ำหรือหนองน้ำ ที่ถูกน้ำโขงท่วมในฤดูฝน เมื่อน้ำลดลงจึงกลายเป็นแอ่งน้ำที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำนานาชนิด แต่การผันผวนของระดับน้ำทำให้ปลาไม่ได้อาศัยอยู่แหล่งเดิมที่เคยสืบพันธุ์และเจริญเติบโต

บุ่งหลบภัยอัจฉริยะ คือ อุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่ ตีซี่เป็นทรงกระบอก มีส่วนที่ถ่วงอยู่ในน้ำติดกับพื้น และส่วนที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ทั้งสองส่วนเชื่อมกันด้วยเชือก เพื่อให้ส่วนที่ลอยอยู่กับผิวน้ำลดระดับลงมาชิดกับส่วนที่ถ่วงอยู่กับพื้นเมื่อน้ำลด เพื่อให้บุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาไข่ปลาและปลาสามารถเติบโตอยู่ภายในบุ่ง จุดที่ตั้งบุ่งไม้ไผ่จะคัดเลือกจากพื้นที่ที่จะได้รับความใส่ใจว่าเป็นเขตไม่จับปลาเล็ก เพื่อให้ปลาในบุ่งเติบโตเป็นแหล่งอาหารของชุมชนต่อไป โดยกลุ่มของเราจะใช้ฟีโรโมนเรียกปลามาวางไข่ในบุ่ง ฟีโรโมนที่จะนำมาใช้สร้างมาจากต่อมใต้สมองของปลา ฟีโรโมนจะสามารถควบคุมสารที่ให้กลิ่นดึงดูดปลาเพศตรงข้ามให้เข้ามา ทำให้ปลาพร้อมสำหรับการสืบพันธุ์ (ซึ่งต้องมีการศึกษาธรรมชาติของปลาเพิ่มเติมว่าปลาว่าอยู่อาศัยอย่างไร มีศัตรูคือปลากลุ่มใด ชนิดปลาใดที่เป็นพวกเดียวกัน เพื่อสร้างธรรมชาติของถิ่นที่อยูอาศัยที่สอดคล้อง)

ผลกระทบต่อสังคมคือเมื่อมีปลาเพิ่ม ก็จะสามารถเพิ่มแหล่งอาหารและรายได้ให้กับชาวประมง

เราจะมีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์คุณภาพน้ำของแต่ละพื้นที่ด้วยการใช้เครื่องมือ Gas chromatography แยกส่วนสารอินทรีย์ในน้ำเพื่อหาความเหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา รวมทั้งมีการอ่านข้อมูลและสังเกต ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาดูแล ในอนาคตสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่แสวงหากำไรคืนสู่ชุมชนได้

ทีม ไทย-ลาวร่วมจุย

Ma Der Mekong

จากการได้พูดคุยรับฟังกับชาวประมงริมฝั่งโขงที่ชุมชนบ้านม่วง ทำให้รู้ว่าสองปัญหาที่คนในชุมชนต้องการหาทางออกมีสองเรื่อง คือ

  1. ชาวประมงบางกลุ่มขาดความตระหนักในด้านการประมงอย่างยั่งยืน เช่น การช็อตปลา การระเบิดปลา และ
  2. ชุมชนริมฝั่งโขงที่เผชิญกับปัญหาไม่มีพื้นที่ในการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนของตนเอง

 

พวกเราจึงหาทางออกให้กับ 2 ปัญหาดังกล่าวด้วยการทำนิทรรศการ Nomad Exhibition เพื่อเป็นพื้นที่กลางที่จะช่วยให้คนทั่วไปรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมของแม่น้ำโขงในปัจจุบัน การจับปลาผิดวิธี และผลกระทบจากการมีเขื่อน ผ่านการจัดแสดงภาพถ่ายที่จะรวบรวมจากสมาคมเครือข่ายลุ่มน้ำโขง และมีการจัดเสวนา Talk เป็นบทสนทนาโดยคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา

นิทรรศการ Nomad Exhibition จะถูกจัด 3 ที่ เริ่มที่ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จากนั้นย้ายไปจัดในตัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย สุดท้ายจัดที่นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว โดยร่วมงานกับ อบจ.หนองคาย, สมาคมเครือข่ายลุ่มแม่น้ำโขง, กลุ่มประชาชนในท้องถิ่น, ชุมชน, สำนักงานท่องเที่ยว จ.หนองคาย

กลุ่มคนที่จะได้เข้ามาชมนิทรรศการ คือคนจากในชุมชนใกล้เคียงกับจุดที่จัดนิทรรศการ ผู้คนที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำโขง นักท่องเที่ยว และคนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารต่อ เช่น นักข่าว บล็อกเกอร์ คนทำคอนเท็นท์

ประโยชนจากนิทรรศการนี้ คือ สามารถเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแม่น้ำโขงผันผวน เป็นการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวให้กับเมืองที่จัดนิทรรศการ และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง

กลุ่มเรายังตั้งใจจะยกระดับนิทรรศการนี้ให้เป็นงานประจำปีระดับประเทศ เป็นต้นแบบในการจัดนิทรรศการคล้ายกันนี้ในชุมชนอื่นๆ เพื่อสื่อสารถึงปัญหา และกิจกรรมนี้อาจได้รับการผลักดันจากองค์กรที่ต้องการพัฒนาการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

ทีม โขงคะนอง

จากการเข้าชุมชนไปพูดคุยสอบถามกับคนในชุมชนบ้านม่วง ปัญหาที่พบคือรายได้จากการเกษตรและการประมงลดลง มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการประมง และราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ

จากข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มของนักท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเว็บไซต์ booking.com พบว่า ร้อยละ 55 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมุ่งมั่นจะใช้บริการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น

กลุ่มของเรามีทางออก คือการออกแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่อาศัยการจัดการโดยคนในชุมชนบ้านม่วงที่ต้องการสร้างรายได้ และมีนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจการท่องเที่ยวยั่งยืนมาใช้บริการ ทำได้ด้วยการสร้างให้เกิดพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนบ้านม่วง มีตัวอย่างแพคเกจการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต ดังนี้

มาถึงบ้านม่วง > ชมสวนกล้วยน้ำว้า > รับประทานอาหารเที่ยงจากวัตถุดิบท้องถิ่น > กิจกรรมร่อนทอง > กิจกรรมล่องเรือ > รับประทานอาหารเย็น > นอนร่วมกับคนในชุมชน > ตื่นมาชมทะเลหมอก > รับประทานอาหารเช้า > เดินทางกลับ

นอกจากนี้ยังมีแพคเกจการท่องเที่ยวที่ออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละฤดูกาลด้วย และเพื่อความยั่งยืน เราจะวางระบบเพื่อให้ชุมชนสานต่อ เพื่อให้ผลกระทบเชิงบวกเกิดขึ้น ให้คนในชุมชนมีงานทำ ได้ทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น และเป็นการท่องเที่ยวที่ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม