Koh Hack ฟื้นคืนธรรมชาติกับก้าวใหม่เพื่อทุกชีวิตบนเกาะ

25 – 27 พฤศจิกายน 2565 จังหวัดภูเก็ต

ชวนอ่าน 6 ไอเดียจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม Koh Hack ทั้ง 6 ทีม ไอเดียสำหรับทางออกของปัญหาที่ท้าทายอย่าง Ecosystem Restoration ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนเกาะ และ Next Step for the Environmental Sustainability ก้าวต่อไปเพื่อทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะที่ยั่งยืน

ตลอดกระบวนการ Hackathon ทุกทีมสามารถบริหารเวลาและทำตามกระบวนการทำงานจนได้ออกมาเป็นไอเดียเจ๋งๆ และไอเดียเหล่านี้จะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะแต่ละไอเดียสามารถนำไปพัฒนาต่อเพื่อแก้ปัญหาจริงได้
 
ยินดีและดีใจกับเหล่า Hacker ทุกทีมนะคะ ประสบการณ์ในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งดอทที่ทุกคนจะได้หยิบจับกลับไปใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวเอง และช่วยกันทำให้สังคมของเราอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนค่ะ

ทีม Phu Great

Community to be aware of landslides

จากการศึกษาของทีม พบข้อมูลสำคัญว่าในปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์ดินถล่มที่สร้างความเสียหายต่อทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่เชิงกายภาพถนนพังบ้านเรือนเสียหาย แต่กระทบถึงระบบเศรษฐกิจหลักคือการท่องเที่ยว ทางเมืองภูเก็ตระบบการแจ้งเตือนอยู่แล้วแต่ขาดความต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ทางทีมจึงเสนอไอเดียที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นที่จะเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐที่จะช่วยติดตามและประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์ดินถล่ม จากสถิติพบว่าเกิดดินถล่มในพื้นที่เดิมซ้ำสูง ทีมจึงเลือกชุมชนเริ่มต้น 2 แห่ง คือ ชุมชนท่องเที่ยวตำบลกมลา และ ชุมชนบ้านบ่อแร่ ที่ตั้งอยู่ใกล้จุดเสี่ยง มาร่วมกันพัฒนาเป็น Community-Based Tourism หรือ CBT เนื่องจากศักยภาพของชุมชนที่เข้มแข็ง คนท้องถิ่นรู้สึกรักห่วงแหนชุมชน สร้างต้นแบบแก้ปัญหาได้รวดเร็วทันการณ์และยั่งยืน

การแจ้งเตือนจะมี 2 ทาง คือ จากภาครัฐ ที่เป็นการรับข้อมูลข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ อีกทางชุมชนเป็นผู้เก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝน นำข้อมูลนี้มาประเมินแล้วใช้เสียงตามสายในการสื่อสารเพื่อการเตือนภัยและรับมือ พร้อมสื่อสารผ่าน SMS หรือ Line

นอกจากนี้ยังมีแผนการป้องกันการเกิดดินถล่มในอนาคตสำหรับพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ด้วยวิธีการให้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวหลักในการแก้ไขปัญหา (Nature Based Solutions) โดยปลูกพืชท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ มีรากที่ยึดเกาะกับดินและโยงใยใต้ดิน เพื่อเหนี่ยวหน้าดินไม่ให้หน้าดินถล่ม การป้องกันภัยดินถล่มและมีระบบแจ้งเตือนภัย ก็เพื่อให้ชุมชนสามารถอพยพได้อย่างปลอดภัยและลดการสูญเสียจากภัยดินถล่ม

ทีม Flood Drive

ไอเดียของทีม Flood Drive เริ่มต้นจากความสงสัยว่าทำไมพื้นที่นางในจึงมีน้ำท่วม ในขณะที่พื้นที่ข้างเคียงน้ำไม่ท่วม จากการเดินสำรวจและสัมภาษณ์ผู้คนในถนนนางใน พบว่าปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดท่วม มาจากการระบายน้ำในพื้นที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อสังเกตฝาท่อในถนนนางใน พบว่าฝาท่อของถนนนางในมีทั้งปิดทึบและอุดตันจากเศษขยะที่ไหลมาติดกับรูระบายของท่อ

ทีมจึงออกแบบฝาท่อใหม่ให้มีรูระบายและเป็นระบบไฮบริดที่สามารถเปิดขยายช่องของฝาท่อให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น และส่งสัญญาณแจ้งเตือนกรณีที่น้ำเริ่มเพิ่มระดับและเมื่อมีขยะอุดตันที่รูระบายน้ำบนฝาท่อ เมื่อส่งสัญญาณแจ้งพิกัดจุดที่เกิดปัญหา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้ามาแก้ไขได้ ลดปัญหาการเกิดน้ำท่วม สามารถเก็บรวบรวมและติดตามข้อมูลปริมาณน้ำก่อนลงสู่ทะเล และพัฒนาไอเดียเป็นนวัตกรรมเชิงธุรกิจที่จะซื้อขายกับหน่วยงานรัฐที่จะนำฝาท่อสมาร์ทไปใช้ ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนไม่ให้เจอผลกระทบจากน้ำท่วม และพร้อมจำหน่ายเซนเซอร์เฉพาะให้กับภาคเอกชนที่สนใจ

ทีม Save Box Phuket

รอบตัวเราล้วนมีแต่ขยะแต่ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มมูลค่าขยะและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ทีมเห็นปัญหาว่าจริงๆ แล้วขยะอินทรีย์ในภูเก็ตมีสูงถึง 60 เปอร์เซ็น กระบวนการเผาขยะเป็นไปได้ช้าและมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 24 ล้านบาท/ปี หนึ่งคนสามารถใช้ขยะได้ถึง 79 กิโลกรัมต่อปี

ทำอย่างไรขยะ Food Waste จะลดลง ทีมเสนอไอเดียว่าหากขยะอินทรีย์ลดลง ความชื้นลดลง ประสิทธิภาพของการเผาขยะก็มีมากขึ้น โดยมีทางออกสำหรับขยะอินทรีย์ที่จะถูกแยกมา คือการเปลี่ยนขยะเป็น Bio Plastic, Bio Gass, ปุ๋ย และอาหารสัตว์ เริ่มจากการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้กลายเป็น Bio Plastic โดยใช้แบคทีเรียในการหมักให้ขึ้นฟิล์ม แผ่นฟิล์มนี้สามารถนำไปใช้อนุบาลกล้ากล้วยไม้ได้ ซึ่งภูเก็ตมีสวนปลูกกล้วยไม้เพื่อการส่งออกขนาดใหญ่

จากการศึกษาของทีมพบกว่า วิธีดั้งเดิมของการปลูกกล้วยไม้จะใช้วิธีตอกตะปูบนรากให้เกาะติดกับวัสดุเพาะปลูก ซึ่งมีอัตราการรอดต่ำ ทำให้ขาดทุนและเสียโอกาสในการส่งออก การพัฒนาไอเดียขยะให้เป็นแผ่นแบคทีเรียเซลลูโลส (bacterial cellulose, BC) ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีสมบัติเชิงกลที่ดี มีรูพรุนสูง ดูดซับน้ำได้มาก ขึ้นรูปได้ง่าย ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และไม่เป็นพิษส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้กล้าไม้ยึดติดกับวัสดุปลูกได้ไว ซึ่งหากนำขยะ Food Waste ในพื้นที่ภูเก็ตจำนวน 8 หมื่นตันมาใช้ จะสามารถลด Food Waste ได้ถึง 24% น้ำหมักที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

การเผาขยะประเภทอื่นก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลด Carbon Footprint ตรงกับการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจสีเขียว BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy โดยมุ่งหวังว่าจะทำงานกับ สำนักงานเทศบาลภูเก็ต ร้านค้าเกษตรพันธุ์ สามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ

ทีม โอบอวน

จากการลงพื้นที่ชุมชนชาวประมงและได้พูดคุยกับชาวประมงตัวจริงเสียงจริง ชาวประมงสะท้อนกับทีมว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาสามารถลดขยะอวนได้จากการไม่นำอวนใกล้หมดสภาพไปใช้งานต่อในทะเล หรือ สามารถซ่อมแซมอวนด้วยตนเองให้สามารถใช้งานต่อไปเพื่อลดการเกิดขยะ นอกจากนี้ ชาวประมงยินดีหากมีคนกลางมาช่วยรับขยะอวน แลกเปลี่ยนเป็นอวนใหม่หรืออุปกรณ์การทำประมงอื่นๆ
.
ทีมจึงเสนอว่า จะเป็นตัวกลางช่วยอำนวยความสะดวกในการรับอวนเก่าและเศษอวนจากชาวประมงเพื่อนำไปรีไซเคิลและแปรรูปเพื่ออัพไซเคิลกับโรงงาน โดยจัดทำเว็บไซต์ที่ใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูล มีการแลกแต้มสะสมการนำอวนเก่าหรือเศษอวนมาแลก เพื่อการรับอวนใหม่หรืออุปกรณ์การประมงอื่นๆ เป็นการให้ผลแบบ Win – Win ที่ทั้งชาวประมงและผู้อัพไซคลิ่งเศษอวนพึงพอใจ
.
ในอนาคต จะเกิดรายได้จากทุนหมุนเวียนที่มีการรับซื้อขยะอวนจากโรงงาน สามารถเพิ่มโอกาสในการเก็บขยะประเภทอื่นๆ จากทะเลมารีไซเคิลได้อีก ในทางตรงสามารถลดปริมาณขยะจากอวนและช่วยสร้างความตระหนักให้เกิดความหวงแหนแหล่งทำมาหากินอย่างทะเลอันดามัน ในทางอ้อม จะช่วยให้เกิดกระแสการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ภาคเอกชน เช่น ยี่ปั๊วขายอวน โรงงานอุตสาหกรรมผลิตอวน กลุ่มนักดำน้ำ ที่จะช่วยสนับสนุนไอเดียนี้ให้เป็นจริงและเกิดความยั่งยืนได้

ทีม เรือเล็กซ์

นักเที่ยวเดินทางมาภูเก็ตปีละ 8 แสนคน และในปัจจุบันมีเรือหางยาวที่ทั้งใช้เพื่อการประมงและการรับส่งนักท่องเที่ยวถึง 2,000 ลำ ซึ่งโจทย์ที่ท้าทาย คือ คราบน้ำมันที่เล็ดลอดลงสู่ทะเล มลภาวะทางเสียงจากมอเตอร์เรือ สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำเล็ดลอดออกไปจากน้ำมันเครื่อง

ทีมเสนอไอเดียโปรเจ็คนำร่อง เป็นเรือประมงหางยาวที่ใช้ไฟฟ้า (เรือหางยาว EV) เริ่มต้นที่ ต.ราไวย์ จ.ภูเก็ต

จากการหาข้อมูล เรือสันดาปใช้น้ำมัน 10,080 ลิตรต่อปี เป็นค่าน้ำมัน 352,800 บาทต่อปี อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 30,643 กิโลกรัมวัตต์ต่อปี แตกต่างกับเรือไฟฟ้า ที่ใช้ฟ้าฟ้า 22,248 ยูนิตต่อปี คิดเป็นค่าไฟฟ้า 127,322.36 บาทต่อปี อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 13,317 กิโลกรัมวัตต์/ปี

แต่ด้วยข้อจำกัดของเรือ EV ที่สามารถเดินเรือได้เฉพาะระยะทางใกล้ชายฝั่ง และยังไม่มีจุดบริการซ่อมบำรุง เครื่องยนต์สามารถโต้ความแรงคลื่นได้น้อย มีข้อจำกัดความเร็วของรอบเครื่องยนต์ ทำให้ยังต้องทดลองเริ่มต้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของการใช้กำลังไฟฟ้าต่อไป

ทางทีมต้องการเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้เรือหางยาวร่วมกับโรงงานผลิตเครื่องยนต์ EV ซึ่งหากทำได้ จะมีประโยชน์เกิดขึ้นกับทั้งผู้ทำประมงเรือหางยาวและสิ่งแวดล้อม ช่วยสนับสนุนให้การท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ต้องอาศัยความร่วมมือนักลงทุน หน่วยงาน หรือบริษัทที่สนใจ

เรือเล็กซ์จะดำเนินกิจการปล่อยเช่าเรือ EV ให้กับชาวประมงได้ทดลองใช้แบบไม่ต้องลงทุนเอง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและยอมรับเรือที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เกิดเกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และลดการใช้น้ำมันอีกด้วย

ทีม เลือดกรุ๊ปบี

จากการสำรวจปัญหาของชุมชน ทีมเห็นว่ากิจกรรมบนเกาะภูเก็ตที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว คือ การลงเล่นน้ำทะเลใสๆ และ ดำน้ำชมปะการัง ซึ่งสินค้ายอดฮิตที่ถูกใช้อยู่เสมออย่างครีมกันแดดจึงกลายเป็นภัยร้ายต่อชีวิตใต้ทะเล เพราะครีมกันแดดในท้องตลาดมีสารเคมีและแอลกอฮอล์ที่รบกวนชีวิตปะการังซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และเป็นแหล่งเริ่มต้นที่สำคัญของห่วงโซ่อาหาร

แล้วเราเปลี่ยนอะไรได้บ้าง คือคำถามสำคัญของทีมที่อยากคงสภาพแวดล้อมที่ดีและเป็นมิตรกับชีวิตใต้น้ำทะเล เลยมีไอเดียธุรกิจ Organic Sunscreen ที่ทั้งช่วยกันแดดและรักษ์โลก สื่อสารให้ถึงลูกค้าผ่านบิ้วตี้บล็อกเกอร์ ให้ช่วยรีวิวและรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญของการลดใช้ครีมกันแดดที่เป็นพิษต่อปะการัง กลุ่มลูกค้าหลักคือ นักท่องเที่ยวโซนยุโรป ที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีมายด์เซ็ตส่งเสริม Sustainable & Responsible Tourism

ทีมเสนอไอเดียธุรกิจผลิตตู้กดแบบรีฟิลที่บริการให้กด Organic Sunscreen และ ครีมอาบน้ำ โดยตั้งตู้ขายสินค้าแบบอัตโนมัติบริเวณทางเข้า โฮสเทล และ โรงแรมที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ

ขยะแพคเกจจิ้งจากครีมกันแดดก็จะลดลง เมืองภูเก็ตได้ภาพลักษณ์เชิงอนุรักษ์ สภาพประการังชะลอความเสื่อมโทรมลง ซึ่งรายได้จากการขายสินค้ารีฟิลนี้มีกำไรราว 20% ของราคาต้นทุน ไอเดียนี้สามารถส่งเสริมให้ภูเก็ตเป็นเมือง Zero Waste โดยเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกใช้ครีมกันแดดของนักท่องเที่ยว