28 – 30 ตุลาคม 2565 กรุงเทพมหานคร
ปัญหาการวิ่งที่ไม่ได้ประสิทธิภาพของรถขยะจะหมดไป เมื่อทีม กาแฟอยู่ไหน บรรเจิดไอเดีย การ opitimize ระบบการเดินทางของรถขยะ ที่งานนี้ทางทีมยืนยันว่าลงทุนไป 1 หมื่น แต่ได้ทุนคืนถึง 2 ล้าน!
วิธีการทำงานเริ่มจากการกำหนดเขตการทดสอบ คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โดยทีมได้ศึกษาเส้นทางเดินรถขยะและพบปัญหาได้แก่ จำนวนรถขยะที่ไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนการบริหารจัดการรถขยะสูง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า carbon footprint จากการวิ่งของรถเก็บขยะใน 1 วันนั้น เทียบเท่ากับต้นไม้ 100,560 ต้นเลยทีเดียว
ทางทีมจึงได้เสนอไอเดียแก้ปัญหาดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยี Google Cloud Fleet Routing (CFR) เครื่องมือที่ใช้ประโยชน์เพื่อการลดต้นทุน (cost) ในการวิ่งของรถขยะได้เป็นอย่างดี โดยเราจะทำการป้อนข้อมูลเส้นทางเดินรถของกรุงเทพมหานครเข้าไป แล้วระบบจะทำการประมวลและแสดงผลการ optimize เส้นทางเดินรถ ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
จากการทดสอบวิธี GTRO กับการเดินรถขยะในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พบว่าหากทำตามโมเดลจะสามารถลดปริมาณรถขยะได้ถึง 25% จาก 2,140 คัน เหลือ 1,605 คัน และลดจำนวนพนักงานเก็บขยะจาก 10,454 คนเหลือ 7,840 คน เป็นอันว่าเราจะสามารถประหยัดงบประมาณใน 1 วันจากเดิมไปได้มากกว่า 2 ล้านบาท!
งบที่ประหยัดไปนี้ เราก็จะสามารถจัดสรรไปลงกับการพัฒนาส่วนอื่นๆ เช่น การพัฒนารถ EV พัฒนาโครงการอื่นที่ช่วยลด emission อีกทั้งยังสามารถจัดสรรงบประมาณไปลงที่ระบบการศึกษาได้อีกด้วย
ทีม Dream Comes True ได้ใช้ประโยชน์จากแนวคิด Pocket Park หรือการปรับใช้พื้นที่เล็กๆ ที่แทรกตามเมืองให้กลายมาเป็นสวนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสบายใจ ทีมได้เลือกพื้นที่ซึ่งมีบริบทความเป็นไทยง่ายๆ มาทำเป็นโปรเจกต์ Way To Park หรือการปรับใช้พื้นที่เขตธรณีสงฆ์ของวัดนั่นเอง
จากการศึกษาปัญหา ทางทีมพบว่าสวนในกรุงเทพฯ มีเพียง 40 แห่ง สามารถเข้าถึงได้ยาก เวลาเดินทางยังต้องเดินทางด้วยยานพาหนะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมีปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การจราจรที่ติดขัดยังส่งผลให้เกิด urban heat island ในเมือง
เพราะฉะนั้นโซลูชันพัฒนา Pocket Park ในบริเวณวัดจึงเริ่มขึ้น ก่อนอื่นทางทีมใช้ระบบ GIS เป็นเครื่องมือตรวจสอบจำนวนและบริเวณวัดซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ พบว่าในกทม.มีวัดอยู่ 448 แห่ง ใช้ข้อมูลจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) มาประกอบเพื่อเลือกพื้นที่นำร่อง และใช้หลักการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ มาพิจารณาว่าพื้นที่นั้นมีการเชื่อมโยงกับโครงข่ายระแวกใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด
จนสุดท้ายจึงได้พื้นที่นำร่องเป็นวัดแก้วแจ่มฟ้า เนื่องจากพบว่าย่านบางรัก ถนนสี่พระยาเป็นโครงข่ายการสัญจรที่มีประสิทธิภาพ จึงได้ไปทำการลงพื้นที่ีจริงๆ และได้พูดคุยกับพระภิกษุสงฆ์ที่วัดเพื่อเก็บข้อมูลเรื่องการปรับใช้พื้นที่บริเวณวัด เช่น ลานจอดรถ ให้กลายเป็นสวน ซึ่งหากเพิ่มพื้นที่บริเวณวัดเป็น Pocket Park แล้ว จะสามารถเชื่อมโยงเขตบางรักให้เป็นเครือข่ายในพื้นที่ได้อย่างดี งานนี้ไม่เพียงแต่เป็นไอเดียที่ดีเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับโครงการสวน 15 นาทีของกรุงเทพมหานครอีกด้วย👍
ทุกคนคงเคยพบปัญหา เวลาที่นั่งรถไฟฟ้า BTS แล้วแต่ไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางของตนเองได้ ซึ่งต้องต่อวินมอเตอร์ไซค์หรือรถแท็กซี่อีกที ทำให้เกิดความฟุ่มเฟือย NexBike จึงเกิดไอเดีย เป็นตัวกลางในการนำผู้โดยสารจาก BTS ไปส่งถึงประตูหน้าบ้าน ไม่เพียงเท่านั้น เพราะรถที่จะใช้ไปส่งเราไม่ใช่รถธรรมดาแต่เป็นรถ EV
ทางทีมได้ลงพื้นที่ศึกษาบริเวณ BTS ลาดพร้าว ซึ่งเป็น superblock ที่มีพื้นที่อยู่ประมาณ 22.52 ตารางกิโลเมตร โดยได้ไปสอบถามข้อมูลจากวินมอเตอร์ไซค์และผู้ที่ใช้บริการ BTS กว่า 60 คน พบว่า 70% พบปัญหาจากการขนส่งที่ไม่ใช่ Door to Door รองลงมา คือ ความไม่ปลอดภัย ความไม่ไว้ใจในการรถไฟฟ้า และด้านค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ทางทีมสร้างโซลูชัน NexBike ซึ่งเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมโยงพาร์ทเนอร์โครงการ เช่น BTS Chula กับบริษัทรถ EV สถานีชาร์จ และรถไฟฟ้า ให้มาเจอกันและสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการ
แผนการ NexBike คลอบคลุมตั้งแต่เส้นทางขาไปและขากลับ ผู้ใช้บริการชำระค่าโดยสารแบบ One Go โดยสามารถซื้อตั๋วเดินทางที่ครอบคลุมตั้งแต่อยู่บนรถไฟฟ้าไปจนถึงระบบเชื่อมต่อที่เป็นรถ EV เพื่อเดินทางกลับที่พัก มีการจัดสรรส่วนลดให้สำหรับผู้ใช้บริการ ส่วนรายได้ของแพลตฟอร์มจะได้รับมาจากค่า commission จากระบบการจองที่ผู้ใช้บริการต้องจองตั๋ว BTS ร่วมกับ NexBike ในแอพลิเคชันยังได้อาศัย Big Data ในการติดตามสถานะ บันทึกเส้นทางในอนาคต ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ และยังสามารถติดตาม carbon footprint ได้อีกด้วย
NexBike คาดหวังว่าจะเปลี่ยนเทรนด์การใช้รถยนต์มาเป็นการใช้รถ EV มากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนจากใช้มอเตอร์ไซค์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นรถ EV จะลด emission ได้ถึง 70% หรือเท่ากับว่าหากกลุ่มเป้าหมายของโครงการ 1 ล้านคน ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าย่านลาดพร้าวขยับมาใช้บริการ NexBike ก็จะเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 5 ล้านต้นต่อปี
ทีม รถ ลด Road เพิ่มตัวเลือกในการใช้รถให้แก่คนเมือง ด้วยแอพลิเคชัน VAN COOL VER เพราะทางทีมเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่รถในระบบขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ ส่งผลให้คนต้องหันมาซื้อรถเพิ่มมากขึ้น ทางทีมจึงเสนอไอเดียการ ‘แชร์รถ’ เพื่อนำไปพัฒนาต่อในเขตที่ไม่มีรถสาธารณะ โดยจะมีการนำร่องโครงการที่เขตสายไหม
รถ ลด Road พร้อมที่จะเป็นตัวกลาง ดึงผู้ที่ต้องการใช้รถสาธารณะกับผู้ที่เป็น driver มารวมเข้าด้วยกัน โดยจะมีระบบการลงทะเบียนและจอง ภายใต้คอนเซปต์ ‘จอง คอนเฟิร์ม ขึ้น ลง จ่ายตังค์’ ที่ดึงให้ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในระแวกบ้านใกล้เรือนเคียงกันสามารถโดยสารรถร่วมกันและไปยังจุดหมายในบริเวณที่ใกล้กันได้ โดยที่กลุ่มคนเริ่มต้นเป็นผู้สร้างเส้นทาง และระหว่างทางหากมีผู้ที่ต้องการจะโดยสารไปในเส้นทางเดียวกันก็สามารถ join เพิ่มได้
นอกจากนี้ VAN COOL VER ก็มีอัลกอริทึมที่ใช้ในการคำนวณเส้นทาง และจะมีการคำนวณค่าโดยสารตามระยะทางเช่นเดียวกับรถแท็กซี่ เพียงแต่จะมีการลดสัดส่วนและเพิ่มเปอร์เซนต์ตามต้นทุน เช่น หากลงจุดเดียวกันจะได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 5% เพราะฉะนั้น เพื่อความคุ้มค่าผู้บริโภคจึงควรจะต้องแชร์รถกันตั้งแต่ 5-6 คนขึ้นไป เปรียบเสมือนเป็นวิธีผลักดันให้คนมาร่วมแชร์รถกันในจำนวนที่มากยิ่งขึ้น
โมเดลนี้ส่งเสริมความยั่งยืนเนื่องจากยังไม่มีใครเคยทำโมเดลที่คล้ายกันในพื้นที่เขตสายไหมมาก่อน หากมีผู้ที่สนใจแอพลิเคชันเพิ่มมากขึ้น การมีรถแวนรับส่งก็จะเป็นการสร้างอาชีพให้คนขับ driver ได้มากขึ้น นอกจากนี้เรายังมีฐานข้อมูลที่สามารถขยายผลไปยังธุรกิจอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย
เพราะฤดูในกรุงเทพมีแต่ร้อน ร้อนมากก และร้อนมากกก ทำให้เมืองประสบปัญหา urban heat island จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนเกิดอาการ heat stress ขึ้น และทางทีม Heat Level ได้มองเห็นว่า หากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นแล้ว กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบก่อนจะไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีรายได้ต่ำ ผู้อาศัยอยู่บริเวณที่มีความหนาแน่นของประชากรมาก และมีความพึงพอใจในชีวิตที่ต่ำ
ทีม Heat Level จึงได้ทำแผนที่ความเสี่ยง หรือ Risk Map ขึ้นมา เพื่อวัดความหนาแน่นของประชากรและหาว่าตรงจุดใดคือพื้นที่เสี่ยงหรือ Risk Hotspot ของประชากรเมือง ซึ่งถ้าเราเห็น Risk Hotspot ก็จะทราบได้ถึงรูปแบบการใช้พื้นที่อาคารพาณิชย์และความเป็นอยู่ของคนบริเวณนั้น เมื่อทราบแล้ว ก็จะสามารถลงไปจัดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในเขตพื้นที่ดังกล่าวก่อนได้
สำหรับแผนการแก้ปัญหานั้น ทางทีม Heat Level จะเป็นตัวกลางในการประสานงานกับภาคส่วนเอกชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มเปราะบางใน Risk Hotspot ด้วยแนวคิดที่ว่าบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ดังนั้นจึงต้องมีส่วนร่วมด้วยกันในการพัฒนาย่านนั้นๆ ด้วย ซึ่งมาตรการที่ทำให้พื้นที่เปราะบางลดการเกิด heat stress และมีความเย็นลง อาทิ การติดตั้งและล้างเครื่องปรับอากาศ การปลูกต้นไม้ การทาสีผนังอาคารใหม่ เป็นต้น โดยมาตรการแก้ไขอาจจะดูต้นแบบมาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีเงื่อนไขเป็นประเทศเมืองร้อนคล้ายกัน
Heat Level กล่าวว่าแนวทางดังกล่าวสามารถทำให้มีความยั่งยืนได้ เนื่องจากมีการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ค่าบำรุงรักษาต่ำ ลดการใช้พลังงานของเมือง มีการพัฒนากทม.ควบคู่ไปกับภาคเอกชนและรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลพัฒนากรุงเทพฯ ของท่านผู้ว่าในปัจจุบัน ผูัคนจะใช้ชีวิตออกนอกบ้านเพิ่มขึ้น heat stress ลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น และสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ (climate resilience) ได้เพิ่มขึ้น
ทีม Climax พบปัญหาการปล่อยควันดำที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์บนท้องถนน ประกอบกับเมื่อได้ศึกษาวิธีการรับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับควันดำเดิม จึงได้คิดพัฒนา Line Chat Bot ที่จะมาอุดรอยรั่วของการรับแจ้งแบบเดิมที่อาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้ในปัจจุบัน
ตัวการรับข้อร้องเรียนแบบเดิมนั้น จะมีในส่วนของแอพลิเคชัน DLT GPS และ Line ซึ่งจัดการดูแลโดยกรมการขนส่งทางบก สำหรับการแจ้งเหตุผ่านแพลตฟอร์มแอพลิเคชันนั้น พบปัญหา คือ ตัวแอพลิเคชันไม่เสถียรและไม่สามารถติดตามผลได้ว่าผลการแจ้งนั้นถึงระยะใดแล้ว นอกจากนี้ การแจ้งเหตุอีกส่วนที่ใช้ Line (Line ID: @1584dlt) ทางทีมมองเห็นปัญหาว่ามีกระบวนการส่งเรื่องที่ซ้ำซ้อน และไม่มีสถานะให้ติดตามหลังส่งเรื่อง
ทีม CLIMAX จึงได้พัฒนาวิธีการรับเรื่องร้องเรียนขึ้นมาใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กรมการขนส่งทางบก (DLT) เพื่อให้พวกเขาสามารถมอนิเตอร์ข้อมูลและจัดการข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผู้ใช้สามารถแจ้งเหตุได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ซึ่งวิธีการ คือ จะใช้ประโยชน์จาก Line Chat Bot ที่จะให้ user ผู้ใช้รถใช้ถนนได้แจ้งส่งเรื่องเข้ามา เนื่องจากคนไทยเล่น Line มาก เพราะฉะนั้นหากใช้ Line Chat Bot ก็จะมีประสิทธิภาพมาก และช่วยลดภาระของกรมการขนส่งทางบกในการคอยเช็คงานด้วย ในระบบการจัดการส่วนกลางจะมีอัลกอริทึมในการคำนวณและแสดงข้อมูลที่ได้รับออกมาเป็นระบบ Dashboard ให้สามารถตรวจสอบข้อมูลที่ถูกแจ้งเข้ามาได้อย่างสะดวก และทางทีม CLIMAX เองก็จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานกับทางรถเมล์ในกทม.ให้
นอกจากนี้ ทางทีมยังได้มีการเสนอเพิ่มเติมถึงการนำ AI มาใช้ช่วยในการตรวจจับควันดำจากกล้อง (incomplete combustion detection) อีกด้วย
ทีม Wait Waste มาพร้อมกับไอเดียเว็บแอพลิเคชันที่แสดงจุดรับขยะต่างๆ ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถใช้งานได้อย่างง่ายดายมากๆ เพียงแค่ add เป็นเพื่อนกับ Wait Waste ใน Line Official ก็สามารถใช้งานฟังก์ชันแสดงจุดรับขยะได้แล้วโดยที่ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมใดๆ เพิ่ม
ปัญหาที่ทางทีมพบ คือ ขยะในกทม.ซึ่งจะไปจบลงที่ landfill และจะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น เป็นพาหะเชื้อโรค รบกวนคนที่บ้านอยู่ใกล้ โดยกทม.มีขยะ 9,500 ตันต่อวันใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี ขยะทั้งหมดมีขยะอินทรีย์ 45% และในจำนวนนี้ถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยแค่ 18% นอกจากนี้ขยะกทม.ยังทำให้เกิดคาร์บอน 2.7 แสนตันต่อปี
เว็บแอพลิเคชัน Wait Waste สามารถเรียกใช้งานได้ผ่าน Line ช่วยทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายขยะสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง โดยผู้ใช้สามารถกดเลือกการใช้งานได้จากเมนูใน Line ซึ่งจะมีให้เลือกดูได้ทั้งจุดรับขยะที่อยู่ใกล้ตัว โดยที่สามารถเลือกหาจุดรับขยะเฉพาะประเภทได้ เช่น หาจุด drop off ของขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ขยะรีไซเคิล เป็นต้น นอกจากนี้แล้วในเมนูยังมีให้เลือกย้อนดูประวัติออเดอร์ที่เราเคยรับซื้อขายกับ waste collector รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารที่จะมีมาอัพเดท ซึ่ง waste collector เหล่านี้ อาจจะเป็นได้ทั้งซาเล้ง โรงเรียน หรือสถานที่ราชการที่สนใจรับซื้อ
ทีม Wait Waste กล่าวว่าโซลูชันนี้พร้อมมอบให้หน่วยงานภาครัฐเอาไปสานต่อให้เป็นจริงได้ เช่น สามารถนำไปปลั๊กอินกับทราฟฟี่ฟองดูว์ได้เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาขยะกทม.ให้ดียิ่งขึ้น
ไอเดียของ Web Waster มาจากการมองเห็นว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะที่มีมูลค่ามากที่สุด แต่เหตุใดเราจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ทางทีม Web Waster จึงได้อาสาเข้าไปเป็นตัวกลางในการจัดการขยะโดยจะประสานงานกับเหล่าผู้รับซื้อขยะหรือ waste buyer
หรือกล่าวคือ Web Waster จะมีบทบาทเป็นตัวกลางที่คอยติดตามเส้นทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกขายเข้ามาในระบบ (tracking system) โดยจะสามารถจำแนกได้ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการป้อนข้อมูลเข้าไปในระบบนั้นสามารถแยกองค์ประกอบออกมาเป็นอะไรได้บ้าง เช่น มีทองแดงหรือสารประกอบอื่นๆ เป็นจำนวนเท่าใด และจะสามารถนำไปจัดการได้อย่างไร
ทาง Web Waster จะเก็บข้อมูลดังกล่าวเอาไว้ และตั้งใจจะให้ข้อมูลนี้กับทาง waste buyer หรือบริษัทที่ทำการรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกทีหนึ่ง โดยจะมีการออกใบ certificate ให้แก่ทาง waste buyer ที่มารับซื้อขยะไปอีกด้วย
จุดเริ่มต้นมาจากคำถามเล็กๆ ว่า “ใครออกแบบห้าแยกลาดพร้าว” กับปัญหาที่พบได้จริงที่ห้าแยกกับการสับสนหนทาง ซึ่งหากไปผิดทางทีหนึ่งต้องวนรถกลับมาอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ปล่อยคาร์บอนเพิ่มอีก 360 กรัม และเนื่องด้วยห้าแยกลาดพร้าวมีรถผ่านเกือบสามแสนคันต่อวัน ทำให้ปริมาณ emission ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น คำถามคือจะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนหันมาใช้ขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว
ทีม ไม่นอนก็ได้ถ้ากาแฟถึง จึงได้ออกแบบแผน Conmute Commu: Connect to the connected มาเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางที่อาศัยระบบขนส่งมวลชนเอาไว้ด้วยกัน เนื่องจากหากมีระบบที่เชื่อมต่อการขนส่งและมีทางเดินเท้าดี คนก็จะไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว
Long “Connect the Hub” การเชื่อมต่อทางราง ได้แก่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
Medium “Feeder” การเชื่อมต่อที่คอยป้อนคนเข้าไปที่การเชื่อมต่อทางราง เช่น shuttle bus ของคอนโด
Short “กรุงเทพฯ เดินได้” การเชื่อมต่อซึ่งรับคนที่ป้อนมาจาก Medium
แผนการเดินทางเชื่อมต่อจาก Long สู่ Medium สู่ Short ดังกล่าวในบริเวณห้าแยกลาดพร้าวนี้ จะถูกแสดงเส้นทางออกมาเป็นภาพที่เข้าใจได้ง่ายทางแพลตฟอร์มในโทรศัพท์มือถือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และด้วยความที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวมีความหลากหลายทั้ง ห้าง สวน สถานที่ทำงาน เพราะฉะนั้นหากอำนวยให้ผู้เดินทางสัญจรได้สะดวกแล้ว จะช่วยส่งเสริมไลฟ์ไลฟ์สไตล์คาร์บอนอีกด้วย🌱