/Beach Hack แก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน

5 -7 สิงหาคม 2565 จังหวัดเพชรบุรี

ชวนชมต้นแบบการแก้ปัญหาของทีม Hacker จากกิจกรรม Beach Hack ที่ชายหาดชะอำ เพชรบุรี กันค่ะ

น้องๆ เหล่าแฮกเกอร์จากหลากหลายความถนัดและความเชี่ยวชาญ ทั้งนักออกแบบ นักสิ่งแวดล้อม นักเขียนโปรแกรม นักสื่อสาร นักวิจัย นักศึกษา นักเรียน มารวมตัวกันเพื่อจับกลุ่มแบ่งทีมแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งและกำแพงกั้นคลื่น

สุดท้ายเราได้ 5 Solution ที่ทั้งเจ๋งและน่าทึ่งจากความตั้งใจร่วมกันของน้องๆ มาชมกันค่ะ

กลุ่ม คุณยายกับบ้านที่หายไป (นักวิชาการกับการลงพื้นที่ที่หายไป)

จากปัญหาการเก็บข้อมูลในพื้นที่ชายหาดของนักวิจัย ที่ต้องใช้ทั้งเวลายาวนาน แรงงานคน และใช้งบประมาณในการสำรวจเก็บข้อมูลสูง กลุ่มคุณยายกับบ้านที่หายไปจึงคิดค้นวิธีช่วยให้นักวิชาการสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียด โดยใช้เวลาน้อยลง ใช้แรงงานน้อยลง และเป็นงบประมาณที่ไม่มากไปกว่าเดิม

ด้วยการเขียนโปรแกรม ทำ Machine Learning ที่มีชื่อว่า ‘CEPM: Coastal Erosion Prediction Model’

โดยโปรแกรมจะเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั้งหมด 20 ชายหาด เพื่อใช้ประมวลผลแล้วนำเสนอออกมาเป็นภาพที่เข้าใจง่าย จะมีการทดสอบโมเดลเพื่อให้โปรแกรมสามารถตอบคำถามจากข้อมูลอินพุท เช่น กระแสลม กระแสน้ำ กำแพงกั้นคลื่น และชายหาด โดยทำสิ่งเหล่านี้ให้เสร็จภายในเวลา 180 เดือน

การเติมข้อมูลเพื่อคาดการณ์ จะใช้งบประมาณการสำรวจเก็บข้อมูลต่อครั้งน้อยกว่า ซึ่งคิดเงินค่าบริการเป็นแบบ Subscription

รายได้จากโปรแกรมนี้ คาดว่าจะมาจากเอกชน/บริษัทที่สนใจ แต่โมเดลที่ดีคือการที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ด้วยงบประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งอาจารย์และนักศึกษาก็จะสามารถใช้ได้ฟรีและเติมข้อมูลอินพุทร่วมกันได้ ถ้ารัฐเริ่มทำเลยตอนนี้ ก็จะช่วยให้รับมือกับเหตุการณ์ชายหาดหายไปได้ล่วงหน้า นอกจากนี้รัฐเองก็จะช่วยสนับสนุนข้อมูลจำนวนมากในขณะที่ใช้เงินน้อยกว่าด้วย

กลุ่ม Beach Dine

มาด้วยคอนเส็ปท์ที่ว่า ‘If beaches die, No more dine’

เริ่มจากตั้งคำถามว่า มีคนรู้ไหมว่าชายหาดจะหายไป จึงสัมภาษณ์ผู้คนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวม 1,051 คน พบว่า คนมากกว่า 80% ไม่รู้ว่าชายหาดกำลังจะหายไป นอกจากนี้ก็ไม่รู้ว่าชายหาดจะหายไปเพราะอะไรด้วย จึงเป็นสาเหตุให้น้องๆ ออกแบบเพื่อสร้างการรับรู้ของคน

เนื่องจาก ‘คนไทย’ คู่กับ ‘ของกิน’ จึงเกิดเป็นโปรเจ็ค Beach Dine X Local Cha-Am โดยสร้างสรรค์เมนูขึ้นมาร่วมกับร้านอาหารและคาเฟ่บริเวณชายหาดชะอำ ให้มีรูปแบบเมนูเพื่อการสื่อความหมายเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งและกำแพงกั้นคลื่น

น้องๆ ได้ออกแบบเมนูร่วมกับร้านใกล้ชายหาด 2 ร้าน ร้านแรกคือร้านของพี่โรเบิร์ต ชื่อ ‘Long-ma-dag ชะอำเหนือ’ ออกมาเป็นเมนูเครื่องดื่ม ‘หาดทรายที่หายไป’ เครื่องดื่มม็อคเทลที่มีเกลือโรยขอบแก้วเป็นสัญลักษณ์แทนเม็ดทราย และมีผลไม้ชิ้นใหญ่วางคั่นตรงกลางของแก้วเป็นสัญลักษณ์แทนกำแพงกั้นคลื่น ซึ่งเราต้องช่วยกันกินผลไม้ชิ้นนี้ให้หายไป ร้านที่สอง เป็นร้านของพี่โย ชื่อ ‘โยยิ้มซีฟู้ด’ ออกแบบเมนูอาหาร ‘ทุบกำแพงแลกกระพง’ เป็นเมนูที่มีแผ่นข้าวเกรียบว่าววางปิดด้านบนของจานเป็นสัญลักษณ์แทนกำแพงกั้นคลื่น ซึ่งเราต้องทุบกำแพงนี้ออกเพื่อที่กินปลากระพง ด้านล่างตัวปลาเป็นส้มตำที่แสดงถึงความเผ็ดร้อนทางอารมณ์ที่มีต่อกำแพงกันคลื่น เมื่อสั่งเมนูพิเศษเหล่านี้ จะได้รับ Beach Film เป็นของที่ระลึกเพื่อชื่นชมความงามของชายหาด

ทีม Beach Dine เชื่อว่า เราต้องให้ข้อมูลความรู้กับทุกคน ความจริงต้องถูกสื่อสารออกไปในวงกว้าง เพื่อความยั่งยืนของทั้งธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ทีม Beach Dine ต้องการทำงานร่วมกับธุรกิจและองค์กรที่มีความเห็นร่วมกัน ซึ่งจะสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนและเพื่อสร้างการรับรู้ผ่านการสื่อสาร ทำให้ทุกคนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ช่วยในการเป็นหูเป็นตา และหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่

กลุ่ม Beach Please

จากจุดยืนของทีมที่เชื่อในธรรมชาติ ว่าธรรมชาติไม่ทำร้ายมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่ทำอะไรกับชายหาด ธรรมชาติจะอยู่ได้เองอย่างยั่งยืน

จากการสำรวจสอบถามพบว่าคนท้องถิ่นบางส่วนยังขาดความเข้าใจถึงผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากการสร้างกำแพงกั้นชายฝั่ง ในขณะที่คนท้องถิ่นและคนทั่วไปอีกส่วนบอกว่าไม่ต้องการให้มีกำแพงกั้นคลื่น เนื่องจากทำให้ชายหาดหายไป นักท่องเที่ยวหดหาย รายได้จากการค้าขายบริเวณชายหาดก็จะน้อยลง

กลุ่ม Beach Please จึงตั้งใจจะทำเว็บแอพพลิเคชัน โดยใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality หรือ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง) เพื่อเป็นดั่งเสียงที่จะสื่อสารแทนธรรมชาติ ให้คนพื้นที่ได้ร่วมตัดสินใจอย่างเต็มใจในการสร้างหรือไม่สร้างกำแพงกั้นคลื่น เทคโนโลยี AR ให้คนเข้าไปหาข้อมูลได้ โดยนำเสนอเข้าใจง่าย สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่

วิธีการใช้คือ ให้ยืนที่ชายหาดที่ต้องการดูภาพเสมือนจริง เปิดเว็บแอพฯ จะมีภาพสามมิติแสดงรายละเอียดของกำแพงกันคลื่นและข้อมูลรายละเอียดผลกระทบของการมีกำแพงกั้นคลื่น โดยทำให้ขยายเป็นวงกว้างโดยไปพาร์ทเนอร์กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพื่อชักชวนให้ติดตั้งแอพ ทำการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้สามารถใช้งานเป็น และตั้งใจให้หน่วยงานองค์กรนำสิ่งนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารกับคนในพื้นที่ด้วย

กลุ่ม Sea-Your-Future

*จำลองเหตุการณ์ เล่นละคร มีแม่ค้าสองคนอยู่ที่ชายหาด แม่ค้าบ่นว่าไม่มีคนมาเที่ยวชายหาด และคุยกันว่าภาครัฐกำลังจะลงโครงสร้างเป็นกำแพงกันคลื่นที่เป็นบันไดและเป็นพื้นที่พักผ่อน แม่ค้าไม่เข้าใจและไม่แน่ใจว่าตนเองเห็นด้วยหรือไม่ เพราะขาดความเข้าใจและมองไม่เห็นภาพสิ่งที่จะเกิดขึ้น

กลุ่ม Sea-Your-Future จะจัดทำแอพพลิเคชั่นที่ทำให้เห็นภาพของพื้นที่ แบ่งออกเป็นจากสายตาของคน 2 คน คือ ภาพจากมุมของแม่ค้า และ ภาพจากมุมของนักท่องเที่ยว

เมื่อเลือกมุมมองแล้ว ก็สามารถแพนกล้องเพื่อดูภาพเสมือน แอพจะแสดงให้เห็นภาพแบบสตรีทวิว จำลองโครงสร้างกำแพงกั้นคลื่นขึ้นมา พร้อมกับบอกข้อดีและข้อเสียของการมีกำแพงกั้นคลื่น — นอกจากนี้ยังมีให้กดเข้าไปดูเนื้อหาที่บอกเกี่ยวกับพื้นที่โครงการในอนาคต ข่าวสารแหล่งเรียนรู้ และสามารถเข้าถึงเครือข่ายอนุรักษ์ชายฝั่ง เพื่อรวมกลุ่มและแบ่งปันความคิดเห็น มีการทำงานร่วมกับโครงการต่างๆ และสื่อสารบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มได้

ถ้าคนท้องถิ่นและคนทั่วไปได้เห็นภาพและเข้าใจผลกระทบก่อนที่จะมีโครงสร้างได้อย่างชัดเจน ได้รู้ข้อดีข้อเสีย ก็จะสามารถบอกต่อ เป็นการกระจายข้อมูลที่กว้างขึ้น และสถานศึกษาก็อาจจะนำไปใช้เป็นสื่อการสอนได้

จบที่ประโยค ‘แรงกระเพื่อมอาจไม่ใหญ่ แต่จะไปไกลสุดลูกหูลูกตา’ 😃

กลุ่ม Saai Saver

กลุ่ม Saai Saver สัมภาษณ์คนท้องถิ่นบริเวณชายหาดชะอำทั้งสามจุด (หาดชะอำเหนือ หาดชะอำใต้ หาดฝั่งสะพานปลา) และพบว่าพวกเขาไม่เข้าใจดีพอเรื่องลมมรสุมและวงจรชีวิตชายหาด อยากให้ชายหาดกลับมาเป็นเหมือนเดิม ไม่ต้องการบันไดกันคลื่นโครงสร้างแข็งที่หน่วยงานรัฐทำให้

ทั้งทีมจึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ทำการกั้นคลื่นด้วยไม้ไผ่และอุปกรณ์หลายชนิด จากนั้นออกแบบอุปกรณ์กั้นคลื่นทดแทนที่มีรูปทรงเฉพาะแบบหกเหลี่ยมทำจากไม้ไผ่เคลือบด้วยวัสดุซีเมนต์ (Bamboo Composite Concrete) ปักเป็นแนวซิกแซกทั้งในน้ำและบริเวณชายฝั่งเพื่อบรรเทาคลื่น ลดความรุนแรงของคลื่นโดยอาศัยหลักการแทรกสอดของคลื่น เมื่อมีคลื่นมาชนอุปกรณ์กั้นคลื่นจะเกิดการปั่นป่วนของคลื่น ช่วยลดความรุนแรงของแรงปะทะจากคลื่น และจะมีเศษตะกอนเม็ดทรายค้างสะสมกันอยู่บริเวณที่ปักกันคลื่นเพิ่มเนื้อที่ชายหาดด้วย

Bamboo Composite Concrete รูปทรง 6 เหลี่ยม ต่อประกอบรวมกันได้ง่าย แข็งแรง วางแบบซิกแซกได้ ติดตั้งทั้งใต้ทะเลและบนชายหาด การมีเหลี่ยมมุมมาก ทำให้คลื่นน้ำสอดแทรกผ่านเข้าไปได้และกระทบกับหลายเหลี่ยมมุม ชะลอความแรง พลังงานจลน์ที่ลดลงทำให้คลื่นเบาลงและโครงสร้างนี้สามารถรื้อถอนได้

ผลจากวิธีการนี้จะทำเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากตะกอนทรายที่ถูดพัดพามาที่หาดมากขึ้น จุดที่ติดตั้งอุปกรณ์กั้นคลื่นในน้ำ จะถูกติดตั้งล้อกับแนวปะการังเทียม ต่อตัวเป็นทรงกลมวางตามยาว ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ว่างระหว่างอุปกรณ์ที่สามารถเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ทะเลหรือปลูกหญ้าทะเลได้ ผลพลอยได้คือ จะได้บ้านอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ใต้น้ำ และคนท้องถิ่นสามารถทำการประมงได้

Bamboo Composite Concrete นี้ มีค่าใช้จ่าย 3,000 บาทต่อเมตร มีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับไม้ไผ่ 4,000 บาทต่อเมตร กับกำแพงกั้นคลื่นที่สร้างอยู่ในปัจจุบัน 175,000 บาทต่อเมตร