น่าจะเป็นคำถามที่ทำให้เราได้นึกทวนว่าเราตัดขาดกับการได้ชมดวงดาว ปล่อยใจและความคิดล่องลอยไปกับแสงระยิบระยับบนพื้นฟ้า มานานเท่าไรแล้ว
วันนี้ EnvironHack มีสารคดีมาชวนดูกันค่ะ สารคดีชื่อ Saving the Dark: A Film on Light Pollution สร้างโดย Sriram Murali ร่วมกับสมาคมท้องฟ้ามืดสากล มีซับไตเติ้ลภาษาไทย แปลโดย วิวัฒน์ จ่างตระกูล
สารคดีเริ่มจากเล่าถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ในรัฐ Central Oregon ซึ่งเป็นเมืองที่สามารถมองดูท้องฟ้ายามค่ำคืนเห็นดวงดาวและทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน ผู้คนจึงแวะเวียนมาเรียนรู้เกี่ยวกับดวงดาวและดูดาวบ่อยๆ กลายเป็นพื้นที่ที่ให้ความตระหนักใส่ใจเรื่องมลภาวะทางแสง ในขณะที่เมืองเติบโตขึ้น มีการใช้แสงสว่างมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นดวงดาวที่ชัดเจนและสวยสว่างในแบบเดิม จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราต้องหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับมลภาวะทางแสงและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ และสังคม
มลพิษทางแสง คือ แสงประดิษฐ์ใดๆ ที่ส่องแสงไปยังจุดที่ไม่ควรส่องไปถึงนั่นเองค่ะ
สารคดีได้ชี้แจงว่า การรับมือกับมลภาวะทางแสง ไม่ได้หมายถึงการปิดไฟทั้งหมด แต่คือการเลือกการจัดแสงไฟของเราอย่างชาญฉลาดให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความปลอดภัยด้วย
ผลกระทบจากมลภาวะทางแสงที่ยกมาให้เราได้ตระหนัก อย่างแรกคือผลกระทบทางดาราศาสตร์
ท้องฟ้ายามค่ำคืนมักจะทำให้เรานึกถึงจุดที่เราอยู่ในจักรวาลนี้ การมองดูดวงดาวได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนนับไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ การอยู่ใต้ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวทำให้เรารู้สึกตัวเล็ก ถ่อมตัว และอ่อนโยนขึ้น เมื่อมลภาวะทางแสงทำให้คนไม่สามารถมองเห็นดวงดาวได้ง่ายดายอย่างเคย คนส่วนใหญ่จึงขาดการเชื่อมต่อเหล่านี้ รวมทั้งเกิดการสูญเสียโอกาสจำนวนมากจากคนใหม่ๆ ที่อาจจะได้รับแรงบันดาลใจและก้าวเข้าสู่สาขาดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ ในเมืองใหญ่ๆ ของแต่ละประเทศ ต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากไปกับการจัดแสงที่ไม่เหมาะสมและสิ้นเปลือง แสงที่มากเกินจำเป็นนี้ทำให้ท้องฟ้าตอนกลางคืนสว่างขึ้น มีแสงสว่างรบกวนรูปแบบการนอนหลับ จังหวะการเต้นของหัวใจ และการหลั่งเมลาโทนินของสิ่งมีชีวิต แต่ละปีมีนกหลายล้านตัวตายจากการชนเข้ากับอาคารที่มีสว่างและกระจก เต่าทะเลต้องดิ้นรนเพื่อลงทะเลให้ถูกทิศเนื่องจากมลภาวะทางแสงเหนือชายฝั่ง เกิดความสับสนของสัตว์ที่ผสมเกสรในเวลากลางคืน ส่งผลเสียต่อการสืบพันธุ์ของพืช และเกิดผลกระทบต่อเนื่องในระบบนิเวศ
ผลกระทบโดยตรงต่อดวงตาของมนุษย์ก็มีเช่นกัน แสงสว่างอย่างไฟที่ปั๊มน้ำมันหรือร้านสะดวกซื้อจ้าๆ มักใช้ไฟ LED อุณหภูมิสีสูง (5000 ขึ้นไป) ซึ่งเป็นไฟที่มีแสงสีน้ำเงินจำนวนมากในสเปกตรัม เมื่อคนเข้ามาอยู่ในที่แสงจ้าเวลากลางคืนจะทำให้ม่านตาหดเพื่อทอนแสงให้น้อยลง ความสามารถในการมองเห็นตามธรรมชาติก็ลดลง
จากการชม Saving The Dark ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับมลพิษทางแสงที่บอกเล่าถึงการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ต่อสู้เพื่อรักษาท้องฟ้ายามค่ำคืนที่มืดมิด ก็ทำให้พวกเราซึ่งเป็นผู้ชมเริ่มตระหนักและปรับตัวจากที่บ้านเพื่อช่วยกันลดการเกิดมลพิษทางแสง ดังนี้
- เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ โดยการติดตั้งจุดส่องแสงสว่างที่มีโคมหุ้มเพื่อให้แสงส่องลงด้านล่าง ไม่กระจายขึ้นด้านบน และใช้ LED ที่มีอุณหภูมิ 3000 เคลวินหรือต่ำกว่า (จากการแนะนำของ International Dark-Sky Association
- เกิดไฟให้แสงสว่างเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็น เมื่อจำเป็น และตามจำนวนที่ต้องการ เพื่อลดแสงที่ไม่จำเป็น การใช้ไฟไม่กี่ดวงส่องสว่างในพื้นที่เป็นระยะย่อมดีกว่าไฟที่สว่างมากๆ หนึ่งหรือสองดวง
- พิจารณาเปลี่ยนมาใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว หรือติดตั้งตัวจับเวลา หรือเลือกใช้ไฟที่ตั้งค่าการใช้งานได้ แทนที่จะเปิดไฟไว้ตลอดทั้งคืน
- อาสาเป็นผู้ร่วมมือ สนุบสนุน และเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ที่เกี่ยวกับกับสมาคมท้องฟ้ามืดในอนาคต
แม้จะสรุปมาให้แบบนี้แล้ว เราก็ยังรับรองว่าการชมภาพยนตร์สารคดีด้วยตนเอง จะให้ความรู้สึกร่วมชวนติดตามและเห็นความสำคัญของปัญหามลภาวะทางแสงได้มากทีเดียวค่ะ
รับชมภาพยนตร์ที่มีตัวอักษรบรรยายไทยได้ที่นี่ > https://www.youtube.com/watch?v=zwjF3z1Gv80
รับชมภาพยนตร์ที่จากลิงค์ต้นฉบับของผู้สร้างได้ที่นี่ > https://www.youtube.com/watch?v=6fHxNn-FEnc
ขอบคุณการเผยแพร่จาก กลุ่ม Dark Sky Thailand นะคะ
หากใครต้องการเข้าร่วม Workshop “รู้จักภัยใหม่ใกล้ตัว: มลภาวะทางแสง” ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน สามารถตามไปที่เฟซบุ๊คเพจ Dark Sky Thailand ได้เลยค่ะ