ปลาหมอสีคางดำกระจายสู่แม่น้ำไทย ทำลายปลาท้องถิ่น

แชร์โพสต์นี้
Facebook
Twitter
Email
หลายวันมานี้ ปลาหมอสีคางดำจำนวนมากถูกจับออกมาจากแหล่งน้ำเพื่อจำหน่ายในตลาดสดหลายภูมิภาคด้วยราคาถูก สาเหตุคือ ปลาหมอสีคางดำแพร่พันธุ์จนชุกชุมเต็มแม่น้ำ ปลาชนิดนี้ ไม่ใช่ปลาท้องถิ่นของบ้านเรา กินจุ และกินลูกสัตว์น้ำน้อยใหญ่ทุกชนิด จนขณะนี้แทบไม่เหลือปลาท้องถิ่นอยู่ในแม่น้ำที่มีปลาหมอสีคางคำระบาดแล้ว นับเป็นการรุกรานระบบนิเวศธรรมชาติที่เป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำ

กลุ่ม Siamensis บน Facebook เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการพบเห็นปลาหมอสีคางดำ จากในภาพถ่าย จะพบว่าปลาหมอสีคางดำนั้นชุกชุมอยู่เต็มผิวน้ำ พบทั้งในคลองสมุทรสงคราม คลองกระทุ่นแบน แม่น้ำท่าจีนตลอดสาย และในแม่น้ำอื่นๆ เมื่อลากแหเก็บปลาขึ้นมา พบว่า 99% ของปลา คือปลาหมอสีคางดำ มีปลานิลติดมาบ้าง แสดงให้เห็นว่าปลาพันธุ์ท้องถิ่นกลายเป็นเหยื่อของปลาหมอสีคางดำเสียแล้ว

ปลาหมอสีคางดำถูกหน่วยงานเอกชนนำเข้ามาจากประเทศกานาเพื่อทดลองเลี้ยง โดยการอนุญาตของกรมประมงฯ  เมื่อปี 2553 ต่อมาพบว่าการทดลองเลี้ยงไม่ประสบความสำเร็จ ปลาได้ทยอยตายและมีการแจ้งว่าได้ทำการกำจัดแล้ว แต่ในปี 2555 ได้พบการระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรกใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาจากผู้เกี่ยวข้องแต่ก็ไม่สามารถระงับการขยายพันธุ์ของปลาหมอสีคางดำได้

ปลาหมอสีคางดำสามารถวางไข่และฟักตัวได้ตลอดทั้งปี แม่ปลา 1 ตัว วางไข่ได้คราวละ 150 – 300 ฟอง ปลาหมอสีคางดำส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน สามารถทนความเค็มได้สูง นอกจากนี้ยังพบในพื้นที่น้ำจืด แม่น้ำ และทะเลสาบน้ำจืด ในบริเวณที่กระแสน้ำไม่ไหลแรง ชอบกินทั้งพืชและสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงกุ้งทะเล กุ้งกุลาดํา กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย การกินอาหารได้หลากหลายชนิดและขยายพันธุ์ที่รวดเร็วทำให้ปลาหมอสีคางดำรุกรานและทำลายสัตว์ในระบบนิเวศท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก

วันที่ 16 ส.ค. 2564 กรมประมงฯ ได้ออกประกาศห้ามเพาะสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์เพิ่มจำนวน 13 ชนิด หนึ่งในนั้นคือปลาหมอสีคางดำ แต่ล่วงมาสองปีแล้ว กลับพบการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำ ทั้งในแม่น้ำ ทะเลสาบ บ่อเลี้ยงปลาหรือกุ้ง ในหลายจังหวัดของภาคกลาง เช่น สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ระยอง และเริ่มมีผู้พบเห็นปลาหมอสีคางดำกระจายตัวไปยังภาคใต้และภาคอิสานแล้ว

C-Site Reporter ภายใต้สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้สร้างแพลตฟอร์มให้ทุกคนที่พบเห็นปลาหมอสีคางดำได้ร่วมแจ้งพิกัดการพบปลา เพื่อเติมข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบพิกัดและเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่ลิงค์นี้ค่ะ 

แจ้งพิกัดการพบปลาหมอสีคางดำ

นอกเหนือจากปลาหมอสีคางดำ ยังมีปลาต่างถิ่นที่เป็นเอเลียนสปีชีส์อีกหลายชนิด ที่เมื่อถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว จะเข้าไปรุกรานทำลายสัตว์น้ำในระบบนิเวศธรรมชาติ เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ปลาบางชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ และทำให้เสียสมดุลระบบนิเวศใต้น้ำด้วย

ตัวอย่างปลาต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์: ปลาดุกอัฟริกัน/ปลาดุกลูกผสม/ปลาดุกบิ๊กอุย, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำ, ปลากดเกราะลาย, ปลาซัคเกอร์, ปลาทับทิม, ปลานิล, ปลาหมอสีคางดำ, ปลาหมอมายัน, ปลาหมอบัตเตอร์, กุ้งเครย์ฟิช,  ตะพาบไต้หวัน, เต่าญี่ปุ่น/เต่าแก้มแดง 

ตัวอย่างปลาท้องถิ่น: ปลาสวาย, ปลาตะเพียนขาว, ปลาตะเพียนทอง, ปลาแก้มช้ำ, ปลากราย, ปลาบู่ทราย, ปลาช่อน, ปลาหมอไทย, ปลาสร้อยขาว, ปลายี่สกไทย, ปลาโพง, ปลาบึก, ปลาไหล, ปลาดุกนา 

แม้ปลาต่างถิ่นบางชนิดจะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจเนื่องจากคนนิยมบริโภค อย่างปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุกบิ๊กอุยหรือปลาดุกลูกผสม แต่ก็เป็นปลาที่เหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงในบ่อเพาะเลี้ยงแบบปิดเท่านั้น ไม่เหมาะกับการปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ

หลายคนชอบทำบุญด้วยการปล่อยปลา จึงมีข้อควรพิจารณาว่า ก่อนที่เราจะปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ  เราควรศึกษาชนิดพันธุ์ที่จะปล่อย ความเหมาะสมของสถานที่ รวมถึงตระหนักถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมด้วย หรือหากเป็นไปได้ การไม่ปล่อยเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะระบบนิเวศสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ถ้าแหล่งน้ำดีมีความสมดุล ระบบนิเวศก็มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ การปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ยังเป็นการทำผิดกฎหมายตามมาตรา 65 และมาตรา 144 แห่ง พรก.ประมง 2558 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 

ดังนี้แล้ว เรามาช่วยกันหยุดยั้งการแพร่กระจายเอเลียนสปีชีส์ไม่ให้เข้ามาทำลายระบบนิเวศท้องถิ่นกันนะคะ ด้วยการ ไม่สนับสนุนการปล่อยปลาหรือสัตว์น้ำที่ไม่ใช่พันธุ์ท้องถิ่น, ระมัดระวังไม่ให้เอเลียนสปีชีส์หลุดออกจากบ่อเลี้ยงทั้งปลาและกุ้ง, หากพบเห็นเอเลียนสปีชีส์ที่แหล่งน้ำไหน ก็ร่วมกันแจ้งพิกัดเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไปค่ะ

ข่าวสาร/บทความล่าสุด

ติดตามพวกเราได้ที่