แพลงก์ตอนคือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในกระแสน้ำ สุดแต่คลื่นและลมจะพาไป หากเราวักน้ำในมือขึ้นมา จะมีแพลงก์ตอนอยู่ในมือเรามาก 100-1,000 ชนิด แพลงก์ตอนมีขนาดเล็กต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องถึงจะมองเห็น ดังนั้น เมื่อพูดถึงแพลงก์ตอนพืช มักหมายถึงพืชจิ๋วเซลล์เดียวที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าค่ะ
การที่น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือ เกิดแพลงค์ตอนบลูม ที่ชายหาดบางแสนในครั้งนี้ เกิดจากแพลงค์ตอนที่มีชื่อว่า Noctiluca Scintillans แพลงก์ตอนชนิดนี้มีสาหร่ายสีเขียวอยู่ในตัวเอง เมื่อฝนตกมาก น้ำฝนชะล้างเอาสารอินทรีย์ต่างๆ รวมทั้งน้ำจากครัวเรือน ร้านค้า อุตสาหกรรม และการเกษตร ลงไปในทะเล ประกอบกับมีแสงแดดส่อง เป็นสภาวะที่แพลงก์ตอนมีสารอาหารเพียงพอให้เจริญเติบโตและขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จนทำให้น้ำทะกลายเป็นสีเขียว
แม้มองตอนกลางวันจะเห็นเป็นสีเขียว แต่ในเวลากลางคืนที่มีความมืดและแสงที่เหมาะสม เราจะมองเห็นยอดคลื่นเป็นสีฟ้าเรืองแสงจากการสะท้อนแสงจากผนังเซลล์ของแพลงก์ตอน
แพลงก์ตอนมีอายุอยู่ได้นานไม่กี่วัน เมื่อแพลงก์ตอนเริ่มตาย จะมีแบคทีเรียที่อยู่ในทะเลย่อยสลายแพลงก์ตอน กระบวนการย่อยสลายนี้ต้องใช้ออกซิเจนจากผิวน้ำจำนวนมาก และซากแพลงก์ตอนยังบดบังการส่องแสงลงไปในทะเลด้วย ทำให้พืชใต้น้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ สิ่งมีชีวิต เช่น ปลา แมงกะพรุน จึงตายเป็นจำนวนมาก และส่งกลิ่นเหม็นคาวโชยมาจากน้ำทะเล
แพลงก์ตอนชนิดนี้เป็นแพลงก์ตอนที่ไม่มีพิษ เพียงแต่มีกลิ่นเหม็นคาวตามวัฏจักรของการเกิดแพลงก์ตอน ถ้าลงเล่นน้ำในช่วงนี้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังต่อผู้ที่แพ้ง่าย อย่างไรก็ตาม สัตว์ทะเลที่จับขึ้นมาได้ช่วงนี้ก็ยังสามารถบริโภคได้อย่างไม่เป็นอันตราย
เนื่องจากแพลก์ตอนบลูมเป็นปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีที่มีรอบวัฏจักรประมาณ 5-7 วัน วันนี้นับเป็นวันที่ 4 ซึ่งถือว่าเข้าสู่ช่วงปลายของการบลูมแล้ว จำนวนเซลล์ของแพลงก์ตอนเริ่มลดลง คาดว่าอีก 1-2 วัน สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
แม้ว่าแพลงก์ตอนบลูมจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่การเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งอย่างที่เป็นอยู่นี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งการทิ้งน้ำเสียจากครัวเรือน ระบบเกษตร ระบบการประมง และระบบอุตสาหกรรม ล้วนสร้างความไม่สมดุลให้กับสภาวะในทะเล เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเลด้วย
อีกไม่กี่วันน้ำทะเลก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่การตายเกยตื้นของสัตว์ทะเลจะยังปรากฏให้เห็น เรามาร่วมกันรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนให้ร่วมกันลดการปล่อยของเสียจากครัวเรือนและระบบอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล เพื่อป้องกันการเกิดแพลงก์ตอนบลูมริมชายหาดของเรากันนะคะ
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Facebook Page: ชอบจัง บางแสน