การฟอกเขียว (Green Washing)

แชร์โพสต์นี้
Facebook
Twitter
Email
ในยุคสมัยที่ผู้คนบนโลกตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วนทั่วโลก ธุรกิจต่างๆ ย่อมได้รับแรงกดดันที่จะต้องแสดงออกว่าตนเองมีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงเห็นแคมเปญการตลาดที่ตบแต่งด้วยฉลากเขียว พร้อมกับคำโปรยที่ประกาศว่าฉันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าทุกการตลาดที่เติมสีเขียวลงไปจะแคร์สิ่งแวดล้อมจริงๆ หลายธุรกิจเริ่มทำการ “ฟอกเขียว” ให้กับสินค้าของตัวเอง ซึ่งเป็นการขัดขวางความก้าวหน้าสู่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงและยังทำลายความไว้วางใจของผู้บริโภคด้วย

ในบทความนี้ เราจะพูดถึงความหมายของการฟอกเขียว และ วิธีปฏิบัติเพื่อลดการฟอกเขียวและส่งเสริมธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เราทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องการฟอกเขียว เพื่อจะได้แยกแยะได้  ให้คำแนะนำเป็น เพื่อการเดินทางสู่การมีจิตสำนึกและการลงมือทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

การฟอกเขียวหมายถึงอะไร? 

การฟอกเขียว หมายถึง การทำสิ่งใดๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้า บริการ หรือบริษัท เป็นการใช้เครื่องมือทางการตลาดที่สื่อสารเกินจริง หรือการสร้างภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแต่ไม่มีเหตุผลข้อเท็จจริงรองรับ 

คำว่า “ฟอกเขียว” ถูกบัญญัติขึ้นในปี 1980 โดยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ชื่อ เจย์ เวสเทอร์เฟลด์ เขาสังเกตว่า บางโรงแรมพยายามส่งเสริมการประหยัดน้ำและพลังงานโดยการให้ลูกค้าใช้ผ้าขนหนูซ้ำ แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวปฏิบัติบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบันนี้ การฟอกเขียวกลายเป็นเรื่องที่มีให้เห็นทั่วไป เป็นเพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ จึงใช้ประโยชน์จากเทรนด์นี้เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตัวเอง

บริษัทธุรกิจต่างๆ มักใช้การฟอกเขียวเพื่อทำให้สินค้าดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นจริงๆ ส่วนใหญ่จะใช้คำที่คลุมเครือหรือไม่มีความหมายชัดเจน เช่น “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” “สีเขียว” หรือ “เป็นธรรมชาติ” โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุน เช่น ติดฉลากสินค้าว่า “ย่อยสลายได้” แต่ความเป็นสินค้าที่ย่อยสลายได้ช้ามากหรือย่อยสลายไม่ได้เลยในสภาพแวดล้อมจริง 

การฟอกเขียว ยังรวมถึงการนำเสนอความจริงแค่บางส่วน หรือใส่ภาพประกอบที่ทำให้เข้าใจผิด บางธุรกิจอาจพูดถึงความคิดริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมเล็กๆ น้อยๆ แต่ละเลยที่จะพูดถึงการกระทำอื่นของตนที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าบางชนิดอาจใช้ภาพและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ลูกโลก มาสร้างความเข้าใจผิดด้วย

จุดประสงค์ของการ ฟอกเขียว คือการใช้ประโยชน์จากความต้องการของผู้บริโภคในการเลือกหยิบสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยที่บริษัทไม่เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของตนเองจริงๆ สิ่งนี้ทำให้ผู้บริโภคสนับสนุนสินค้าหรือบริษัทที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงอย่างที่กล่าวอ้างโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของการฟอกเขียว ผู้บริโภคควรมองหาถ้อยคำบนสินค้าที่ระบุเฉพาะเจาะจงและตรวจสอบได้ เช่น การได้รับรองจากองค์กรที่เป็นที่ยอมรับ มีการรายงานแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเปิดเผยโปร่งใส มีฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าเชื่อถือ เพื่อจะได้ซื้อสินค้าหรือบริการที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ต้องพิจารณาจากอะไรถึงจะรู้ว่าใคร “ฟอกเขียว”?

หากต้องการสังเกตว่าองค์กรไหนมีการ ฟอกเขียว เพื่อหลีกเลี่ยงการสนับสนุน ให้พิจารณาสิ่งต่อไปนี้:

1. ตรวจเช็คจากถ้อยคำที่ใช้: เราต้องมองให้ไกลกว่าถ้อยคำทางการตลาดและการโฆษณา โดยตรวจเช็คว่าคำกล่าวอ้างขององค์กรเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสินค้ามีอยู่จริงไหม ได้รับการรับรองจากบริษัทเอกชนที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ตรวจสอบทุกคำที่คลุมเครือให้มั่นใจถึงข้อเท็จจริงก่อน

2. พิจารณาความเปิดเผยโปร่งใสขององค์กร: ปกติแล้ว สินค้าหรือบริการที่เปิดเผยโปร่งใสจะเต็มใจให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับแนวทางด้านสิ่งแวดล้อม ให้มองหาองค์กรที่รายงานหรือให้ข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน หากองค์กรไหนไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลหรือตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจง อาจเป็นสัญญาณของการฟอกเขียวก็ได้

3. ตรวจสอบใบรับรองที่เชื่อถือได้: มองหาใบรับรองจากองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้าและองค์กรต่างๆ ดูค่ะ หาอันที่เป็นตราหรือสัญลักษณ์ที่มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด ระมัดระวังเอกสารที่ทำขึ้นมาเองซึ่งอาจไม่มีมาตรฐานหรือเป็นการปลอมแปลงก็ได้

4. พิจารณาแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร: สังเกตว่าองค์กรนั้นมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไหม ดูแนวปฏิบัติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดูเรื่องการจัดการของเสีย การใช้พลังงาน และการปล่อยมลพิษว่าทำถูกต้องตามข้อกำหนดหรือไม่ สงสัยไว้ก่อนว่าบางองค์กรอาจจะแค่พยายามทำตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อเอาชนะคู่แข่งก็ได้

5. สนับสนุนองค์กรที่มีความรับผิดชอบ: เลือกสนับสนุนองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและแสดงความมุ่งมั่นในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สื่อสารถึงข้อกังวลของเราเกี่ยวกับการฟอกเขียวขององค์กรผ่านโซเชียลมีเดียหรือติดต่อโดยตรง เพื่อส่งเสริมให้องค์กรมีความโปร่งใสและไขข้อสงสัยอย่างตรงไปตรงมา

6. ร่วมผลักดันกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น: ทุกคนควรช่วยกันผลักดันให้มีกฎระเบียบเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องกำหนดให้มีมาตรฐานในการสื่อสาร มีแนวทางปฏิบัติและการบังคับใช้ที่เข้มงวด เพื่อป้องกันการกล่าวอ้างเกินจริงหรือทำให้เข้าใจผิด เพื่อลดการฟอกเขียว และสนับสนุนแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง

องค์กรต่างๆ จะก้าวข้าม “การฟอกเขียว” ไปได้อย่างไร?

หากต้องการก้าวข้ามการฟอกเขียว และ หันมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศอย่างมีความหมายและถูกต้อง องค์กรต่างๆ สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้:

1. ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายบนความเป็นวิทยาศาสตร์: องค์กรต่างๆ ควรกำหนดเป้าหมายภารกิจเพื่อให้เห็นตัวชี้วัดผลกระทบที่ชัดเจนและอิงวิทยาศาสตร์ โดยให้กิจกรรมนั้นสอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส เป้าหมายเหล่านี้ควรครอบคลุมทุกการปฏิบัติขององค์กร รวมถึงเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษ การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ การลดของเสีย และแนวทางปฏิบัติในนิเวศองค์กรที่ยั่งยืน เป็นต้น

2. มีการประเมินความยั่งยืนอย่างครอบคลุม: องค์กรควรประเมินการดำเนินงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อตรวจเช็คผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการ รวมทั้งประเมินการใช้พลังงาน การปล่อยมลพิษ การใช้น้ำ การสิ้นเปลืองทรัพยากร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรได้เห็นพื้นฐานของตนเองและวางแผนเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. พัฒนาและดำเนินการตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ: องค์กรควรมีแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุม มีกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาว โดยริเริ่มการดำเนินการอย่างมีลำดับเวลาและทีมที่รับผิดชอบ แผนการเหล่านี้อาจเกี่ยวกับการลดการปล่อยมลพิษ ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน แนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียน การมีส่วนร่วมของพนักงานและชุมชน เป็นต้น

4. เปิดเผยโปร่งใสและรับการตรวจสอบจากบุคคลอื่น: องค์กรควรเปิดเผยและโปร่งใสในการแบ่งปันความคืบหน้าและข้อมูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงลูกค้า พนักงาน นักลงทุน โดยจ้างผู้ตรวจสอบมาเช็คความถูกต้องและความก้าวหน้า สิ่งนี้จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ถึงความน่าเชื่อถือและสร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

5. ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย: มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและไอเดีย ทั้งกับคู่ค้า องค์กรข้างเคียง สถาบันวิจัย และหน่วยงานของรัฐเพื่อแบ่งปันความรู้ ทรัพยากร และร่วมกันหาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด

6. ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน: เตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน โดยสนับสนุนให้องค์กรพาร์ทเนอร์และคู่ค้าทำเช่นเดียวกัน 

7. คิดค้นและลงทุนในทางออกที่ยั่งยืน: องค์กรต่างๆ ควรลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ยั่งยืนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เช่น ออกแบบสินค้าใหม่เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการรีไซเคิลและหมุนเวียน และเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนแก่ลูกค้า เป็นต้น

8. เป็นองค์กรผู้สนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม: ใช้อิทธิพลขององค์กรในการสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้เกิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ด้วยการริเริ่มข้อสนทนาด้านนโยบาย สนับสนุนกฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในกลุ่มวงการของตนเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ

9. ให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กรอย่างยั่งยืน: ให้ความรู้แก่พนักงานและให้พนักงานได้มีส่วนร่วมกับองค์กร ส่งเสริมความคิดริเริ่มของพนักงาน และรวมวิธีคิดที่อิงความยั่งยืนเข้ากับค่านิยมขององค์กร

10. ตรวจสอบ วัดผล และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง: ใช้ระบบติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพเพื่อวัดความก้าวหน้าการไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร พัฒนาความคิดริเริ่มอย่างสม่ำเสมอ อุดช่องว่างที่องค์กรสามารถทำได้ดีขึ้น ปรับกลยุทธ์ตามความจำเป็น รวมทั้งแบ่งปันบทเรียนที่ได้รับเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น

องค์กรใดๆ เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้แล้ว ก็จะสามารถก้าวหน้าไปได้ไกลกว่าการฟอกเขียวและกลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเชิงรุก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในองคาพยพที่จะเปลี่ยนผ่านยุคสมัยไปสู่อนาคตที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน

ข่าวสาร/บทความล่าสุด

ติดตามพวกเราได้ที่