วันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับ พี่ชะ, อรช บุญ-หลง อาจารย์พิเศษและผู้ประสานงานด้านนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่ชะเกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่ชะตัดสินใจไปเรียนต่อเรื่องการจัดการวัฒนธรรมที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และมีประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมอยู่ที่ฝรั่งเศสหลายปี ก่อนกลับมายังเชียงใหม่ บ้านเกิดที่รัก
ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่ชะ นักลงมือทำที่เชื่อมร้อยองค์ความรู้และผู้คนเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในแบบที่ดีขึ้น สนุกขึ้น มีความสุขขึ้น คนที่ตั้งหมุดหมายในใจยากๆ แต่เห็นภาพปลายทางชัดแจ๋วและมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จอย่างเป็นเลิศ!
ก้าวเข้าสู่การทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม “โนโฟม”
ด้วยความเป็นคนที่มีภาพปลายทางของการริเริ่มสิ่งใหม่และเป็นคนลงมือทำที่แข็งขัน พี่ชะเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมสร้างสรรค์พื้นที่และกิจกรรมที่ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมในเชียงใหม่ ตั้งแต่ จัดงานเมืองเมือง ที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ในวันอาทิตย์ที่มีถนนคนเดิน จัดพื้นที่แสดงดนตรี หุ่นละคร ดึงให้คนเข้าไปชมนิทรรศการเรื่องเชียงใหม่หลากมิติในบ้านเจ้าเมืองที่มีอายุ 130 ปี จนวันหนึ่งได้เริ่มมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
“ตอนนั้นพี่จัดงานเมืองเมืองร่วมกับเพื่อนๆ หลายคน มีเพื่อนคนนึงชื่อ คุณอ๊บ เค้าอยู่ต่อจนดึกเห็นขยะโฟมจำนวนมหาศาลถูกทิ้งไว้ และได้รู้ว่าทุกวันอาทิตย์ ที่นั่นเป็นแหล่งผลิตขยะโฟมอันดับ 1 ของภาคเหนือ ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผลเลย เราใช้ถ้วยโฟมใส่อาหารทานแค่ 5 นาที 10 นาที แล้วมันก็กลายเป็นขยะไปอีก 2,000 ปี ทุกคนก็เลยเห็นตรงกันว่า เรามาทำโครงการ No Foam for food กันดีกว่า”
“โครงการถนนคนเดินเชียงใหม่ โนโฟม ริเริ่มจากความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันโดยไม่พึ่งแหล่งเงินทุนสนับสนุน ทั้งออกแบบโลโก้ ออกแบบกิจกรรม ตามหาถ้วยชามชานอ้อยจนไปเจอเจ้าของบริษัทผู้ผลิตที่ยินดีขายให้ในราคาพิเศษ รณรงค์ให้คนใช้ภาชนะอื่นที่ย่อยสลายได้ เช่น กระดาษ ใบตอง ตอนนั้นเริ่มต้นทำงานร่วมกับเจ้าอาวาสวัดพันอ้นจนเกิดระบบการแยกและจัดการขยะที่ดี ก็มีพี่ๆ ชวนเข้าไปเสนอกับนายกเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อขยายโครงการไปยังถนนคนเดินตลอดสาย รวมกับที่เราได้รับความร่วมมือจากร้านค้าในถนนคนเดินที่เต็มใจเข้าร่วมโครงการด้วย มีระบบอาสาสมัครส่งภาชนะชานอ้อยให้ร้านค้า ทำแคมเปญโปรโมท ชวนนายกเทศมนตรีไปเดินแจกป้ายร้านนี้โนโฟม เราเริ่มกันตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จนถนนคนเดินเชียงใหม่ โนโฟม สามารถเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายๆ พื้นที่ในประเทศได้ขยับตามไปด้วย”
“ส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ คือการมองให้เห็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครบ ตั้งแต่ทำงานร่วมกับคนที่มีความตั้งใจในเรื่องเดียวกัน ให้คุณค่าในสิ่งเดียวกัน มีจุดหมายปลายทางร่วมกัน จึงจะกลายเป็นระบบนิเวศน์ของการทำงานที่เกื้อกูลและส่งเสริมสนับสนุนกันค่ะ” พี่ชะบอกจากประสบการณ์ในการทำโครงการถนนคนเดินเชียงใหม่ โนโฟม
ทำความรู้จักกับดอยหลวงเชียงดาว
ในระหว่างทำงานโครงการโนโฟม พี่ชะได้รู้จักกับ ครูเบิร์ท – ประสงค์ แสงงาม กลุ่มรักษ์ล้านนา ที่ทำงานเชิงศิลปวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่เชียงดาวมากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นคนที่พาพี่ชะขึ้นดอยหลวงเป็นครั้งแรกด้วย
จากนักกิจกรรมสาวและคนจัดงานสร้างสรรค์ในเมืองใหญ่ คืนแรกที่ต้องนอนเต็นท์พื้นแข็งๆ ในป่า พี่ชะโอดในใจว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ ต้องอยู่ในที่ที่ไม่มีน้ำ-ไฟ-สัญญาณโทรศัพท์ คืนนั้นฝนตกมีน้ำรั่วเข้าเต็นท์ รอบข้างเงียบสงัดแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน มีเสียงอะไรก็น่ากลัวไปหมด นอนไม่หลับ แต่พอถึงรุ่งเช้าที่ได้ไปดูตะวันขึ้นที่ยอดดอย พี่ชะบอกกับตัวเองว่า จะขอปวารณาตัวเพื่อช่วยดูแลดอยหลวงเชียงดาว
“อย่างแรกที่พี่รู้สึกเลยก็คือ ตัวเราเล็กมากเลยเมื่อเทียบกับธรรมชาติและจักรวาลที่กำลังหมุนอยู่ ภูมิใจในตัวเองด้วยว่าเราเดินมาไกลมากจากตรงที่ลับตาไกลๆ นู้น ลัดเลาะผ่านต้นไม้มาด้วย 2 ขา 2 มือจนมาถึงข้างบนนี้ ที่นี่เป็นที่ที่พิเศษและมีมนต์จริงๆ แม้แต่ความเงียบสงัดก็ทำให้สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่มั่นคงของธรรมชาติ เป็นความเก่าแก่ที่บอกไม่ถูก ทำให้รู้สึกรักและโหยหา อยากกลับมารับรู้ รู้สึกถึงอยู่เรื่อย ๆ
อีกอย่าง ที่นี่เป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตย์ของเจ้าหลวงคำแดง เจ้าแห่งเทพล้านนาทั้งปวงที่คอยปกปักรักษาที่นี่อยู่ คนเฒ่าคนแก่ในเชียงดาวจึงไม่ขึ้นไปบนยอดดอยเพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ที่ของมนุษย์ ความรู้สึกเชื่อมโยงและนอบน้อมอย่างมหัศจรรย์นี้ เกิดขึ้นพร้อมแสงแรกของวันนั้นที่พี่มีสัญญาใจกับดอยหลวงเชียงดาวเลย พี่ตั้งจิตบอกกล่าวเลยว่า จะขอมาช่วยดูแลไปจนจะหมดแรงนะคะ
ตอนนั้นมีเรื่องกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวง เป็นโครงการของภาครัฐ ซึ่งก็มีคนรุ่นก่อนหน้า รุ่นลุงป้าน้าอา ที่ต่อสู้กับเรื่องนี้มาก่อน พี่เองเป็นคนรุ่นถัดมาก็มองว่าเราจะทำยังไงให้การรับมือมันเป็นเชิงบวก จากที่เราได้เรียนรู้ว่าการจูงใจด้วยความรู้สึกเชิงบวกจะได้ผลดีและได้รับความร่วมมือในวงกว้าง เมื่อ 10 ปีก่อนเราสามารถสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์อย่าง Facebook ได้แล้ว พอกลับออกมาจากดอยหลวงช่วงนั้น เราก็รวมกลุ่มคนทำงานเล็กๆ ไม่ถึง 10 คนจากหลากหลายที่มา เรียกตัวเองว่า ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว และเปิดเพจที่ชื่อว่า – เรารักดอยหลวงเชียงดาว ค่ะ”
“เรารักดอยหลวงเชียงดาว” และการขับเคลื่อนไปพร้อมกับ “ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว”
“เราเริ่มสื่อสารด้วยการชวนคนมาบอกรักดอยหลวง สร้างความรักให้เห็นคุณค่ากันก่อน มีหลายคนส่งภาพมาจนรวบรวมได้เยอะมากๆ เลยตั้งใจว่าถ้ากระเช้าจะมาจริงๆ เราจะเอาภาพที่คนถ่ายไว้เยอะๆ นั่นแหละ มาบอกให้ทุกคนได้รู้ว่าตรงนี้จะมีขากระเช้ามาปักอยู่ ดอกไม้ตรงนี้จะหายไป กวางผาจะไม่มีแหล่งอาหาร ตรงนี้จะถูกทลายให้กลายเป็นถนนคอนกรีตเพื่อขนส่งสิ่งต่างๆ ขึ้นไป
ถ้ายังไม่สำเร็จ เราจะชวนทีมโปรดักชันระดับชาติมาทำเอฟเฟคภูเขาถล่ม หินจากดอยหลวงกลิ้งลงดอย มีเสียงดังสนั่น จะบอกว่ามันขึด (ยิ้ม) ชาวล้านนาเชื่อเรื่อง ขึดบ้านขึดเมืองเกิดอาเพศ เวลาที่มนุษย์ทำอะไรไม่ดีไม่งามกับธรรมชาติ สิ่งนี้แน่นอนว่าจะทำให้เจ้าหลวงคำแดงไม่พอใจเพราะบนยอดดอยคือที่สถิตย์ของท่าน ซึ่งจริงๆ หินถล่มมันเกิดได้นะเพราะเป็นภูเขาหินปูนที่มีโพรงถ้ำเต็มไปหมด แต่ดีมากเลยที่มันไม่ไปถึงจุดนั้นเพราะว่าคนรุ่นก่อนเขาก็เคลื่อนไหวและต่อต้านกันมา”
ในพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวมีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่คล้ายกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัย มีกวางผาซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของโลกอยู่ 100 ตัว จากที่มีอยู่ทั่วโลกราว 2,000 ตัว พี่ชะจึงใช้พื้นที่เพจ “เรารักดอยหลวงเชียงดาว” ในการรณรงค์เชิงบวกเพื่อการดูแลพืชพันธุ์ สัตว์ป่าและกวางผา มีการจัดนิทรรศการ ทำคอนเสิร์ต ทำบทความให้สัมภาษณ์ ทำหนังสือ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากผู้คนและกลุ่มต่างๆ ที่ยินดีมาเป็นแนวร่วม รวมทั้งร่วมมือกันทำงานเรื่องอื่นๆ กับชุมชนในพื้นที่รอบดอยหลวงเชียงดาวด้วย
“พี่คิดว่าสิ่งที่ทำให้ดอยเชียงดาวได้รับการดูแลที่ดี เป็นเพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนที่ทำงานกันอยู่ตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ในฤดูที่มีไฟป่า เราไม่ได้แค่เฮโลมาช่วยกันดับไฟแล้วแยกย้าย การทำงานนอกฤดูไฟสิสำคัญกว่าในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟ เพราะไฟป่าคือไฟที่เกิดจากคน เหตุผลแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ดังนั้นเราต้องให้ทุกคนเห็นคุณค่าเดียวกันว่าดอยหลวงเชียงดาวคือป่าต้นน้ำ เป็นต้นกำเนิดชีวิต ต้นทางของระบบนิเวศน์ การที่เราดูแลพื้นที่ตรงนี้ย่อมส่งผลไปถึงอากาศ น้ำ ดิน ของคนทั้งประเทศ
แม้แต่พื้นที่เกษตรในเชียงดาวก็มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ นำทีมโดย พี่แหม่ม – ศรัณยา กิตติคุณไพศาล สวนบัวชมพู ที่ทั้งทำพื้นที่ตัวอย่าง สนับสนุนให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่รอบดอยหลวง และรับซื้อผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดีๆ เป็นแรงจูงใจให้คนช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมของเชียงดาว รวมถึงทีมรักษ์ล้านนาของ ครูเบิร์ท ที่จัดกระบวนการให้ผู้คนได้รู้จักและเข้าใจดอยหลวงเชียงดาวทั้งมิติสิ่งแวดล้อมและจิตวิญญาณมามากกว่า 20 ปี”
พี่ชะเล่าให้ฟังว่าในช่วงมีนาคม-เมษายน ปี 2562 มีไฟป่าเกิดขึ้นบนดอยหลวงเชียงดาวจนต้นไม้พืชพรรณเสียหายไปเยอะมาก กินพื้นที่ 3,000 กว่าไร่ จนต้องมีการปิดดอย ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวจึงได้ทำการระดมทุนจากทั่วประเทศได้เป็นเงิน 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งนำมาใช้ทำงานต่อเนื่องได้ถึง 2 ปี เพื่อสนับสนุนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว สนับสนุนชุมชน และเพื่อสร้างความร่วมมือเชิงบวกจากคนในพื้นที่ ทำให้ในปีต่อมาก็ไม่มีไฟเกิดขึ้น
“งบประมาณในการดูแลป่าเพื่อไม่ให้เกิดไฟเป็นสิ่งสำคัญค่ะ เพราะว่ามีคนที่เขาตั้งใจดูแลป่าอยู่แล้ว เราควรจะสนับสนุนให้เขาสามารถช่วยดูแลต่อไปเรื่อยๆ มีการลาดตระเวนตรวจตรา ทำแนวกันไฟ ดับไฟลุกลาม เหล่านี้เป็นวิถีที่ชุมชนทำมาตลอดด้วยงบประมาณของแต่ละชุมชนเอง เพราะมันคือบ้านของเขา ป่าชุมชนของเขา ความร่วมมือที่ดีที่เกิดขึ้นมาจากการมีกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ที่เข้าใจค่ะ หัวหน้าและเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว หัวหน้าอุทยานในพื้นที่ และภาครัฐอื่นๆ ที่มาทำความเข้าใจ รับฟังปัญหา และทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนจริงๆ ก้าวข้ามข้อขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวง เน้นประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม”
ปิดดอยหลวงเชียงดาว ”ให้ดอยหลวงเชียงดาวได้พักฟื้น”
หลังเกิดไฟบนดอยหลวงครั้งใหญ่ ได้มีการพูดคุยหารือกันระหว่างหัวหน้าและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว นายอำเภอ ภาคท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และชุมชน ว่ามีความจำเป็นต้องปิดดอยหลวงเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว
“ตอนนั้นหารือกันกับหัวหน้าเขตฯ ว่าเราต้องปิดพื้นที่ไม่ให้เข้าไปศึกษาธรรมชาติเพราะไฟไหม้ไปถึงทุกยอดดอย ทำให้พืชพันธุ์บางชนิดตาย หลายชนิดเสียหายหนัก แหล่งอาหารของกวางผาและสัตว์ป่าก็ได้รับผลกระทบสูง แต่การจะปิดดอยหลวงก็มีคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน เช่นลูกหาบ คนนำทาง รถบริการ ที่พัก ร้านอาหาร เราก็ต้องหาทางออกที่ทุกคนจะเห็นร่วมค่ะ
ในการประชุมตอนนั้นมีนายอำเภอมาเป็นประธาน ทางหัวหน้าเขตฯ ก็รายงานความเสียหาย ทางภาคีฯ ก็ทำคลิปวีดีโอสั้นๆ มีภาพและข้อมูลทำเป็นอินโฟกราฟฟิกที่ชัดเจน สื่อสารว่าทำไมเราถึงต้องปิดดอยหลวง ให้เห็นว่าส่วนที่ถูกไฟไหม้ไป 3,000 กว่าไร่มีความเสียหายอย่างไร ที่สำคัญคือมีไอเดียออกแคมเปญ เที่ยวเชียงดาวได้ทั้งปี ให้เป็นการท่องเที่ยวทางเลือก เช่น ล่องแพเมืองคอง ไปเรียนรู้ป่าชุมชน ไปบ่อน้ำร้อน เกษตรอินทรีย์ ถ้ำ และอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ในเชียงดาว เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีทางเลือกอื่น ผู้ประกอบการและคนในชุมชนก็ยอมรับด้วยดี ตอนนั้นก็เลยมีแคมเปญ ชื่อ “ให้ดอยหลวงเชียงดาวได้พักฟื้น” ออกมา ซึ่งคนก็แชร์กันไปเยอะมาก ทำให้คนเข้าใจว่าทำไมจึงต้องปิดดอยหลวงเชียงดาว ให้ธรรมชาติฟื้นตัวด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ (ยิ้ม)”




ท่าทีใหม่ในการเข้าดอยหลวงเชียงดาว นำโดยโปรเจ็ค Hangover Thailand ตอน เชียงดาว Nature Reconnect
ผ่านไปเกือบสองปี หลังเจ้าหน้าที่ขึ้นไปสำรวจการฟื้นตัวของพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิต ก็พบว่าบนดอยหลวงเชียงดาวมีความอุดมสมบูรณ์และฟื้นตัวได้อย่างดี พืชพันธุ์ท้องถิ่นหลายชนิดกลับมางองกงามอีกครั้ง แต่การฟื้นคืนของธรรมชาติในครั้งนี้ก็ทำให้คนที่รักดอยหลวงเชียงดาวตระหนักถึงความเปราะบางและความสำคัญของการรักษาดูแลมากยิ่งขึ้น
“ก่อนที่จะเปิดดอยหลวงเชียงดาวให้เข้าศึกษาธรรมชาติได้ พวกเรา ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว พี่โอ๊ค คทา มหากายี และ พี่โรส วริสรา มหากายี บ้านเรียนทางช้างเผือก คุยกันว่า เราต้องมีกระบวนการให้คนเปลี่ยนท่าทีในการเข้าพื้นที่แห่งนี้ เพราะที่นี่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติที่เปิดรับนักท่องเที่ยว แต่เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เปิดให้ศึกษาธรรมชาติเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ และในตอนนั้น ดอยหลวงเชียงดาวก็กำลังอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลขององค์การยูเนสโกด้วยค่ะ”
พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere reserved area) จะถูกแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ
- Transition area คือพื้นที่รอบนอกที่มีชุมชนอาศัยและใช้ประโยชน์
- Buffer Area คือพื้นที่กันชนที่ป้องกันพื้นที่แกนกลาง
- Core Area คือพื้นที่แกนกลางซึ่งสงวนไว้สำหรับการศึกษาวิจัยเท่านั้น
สำหรับพื้นที่แกนกลางของดอยหลวงเชียงดาว ยูเนสโกให้ยึดถือตามกฏหมายและจารีตปฏิบัติเดิมของพื้นที่ ทำให้เรายังสามารถเข้าไปศึกษาธรรมชาติได้ในช่วงเวลา 3-4 เดือนตามที่เคยปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว แต่การเข้าพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวหลังจากนี้ ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่าจะต้องมีการปรับท่าทีใหม่ในการเข้าพื้นที่ โดยการประชาสัมพันธ์ก่อนที่จะเปิดดอยหลวงอีกครั้ง
“พี่ชะชอบต่อ – ธนภพ ลีรัตนขจร เพราะชอบทัศนคติและผลงานของเขา แถมเค้าเท่ขนาดนั้น (ยิ้ม) ก็เลยติดต่อชวนน้องมาทำโปรเจ็คนี้ด้วยกัน ปรากฏว่าต่อตอบรับ มากไปกว่านั้น พี่ย้ง – ทรงยศ สุขมากอนันต์ ให้ทีมติดต่อมาว่า ถ้ายังไม่มีใครทำโปรดักชัน พี่ย้งอยากขอทำเอง โอ้โห มันดีมากๆ รู้สึกเลยว่าเวลาที่เราทำงานที่มีประโยชน์กับผู้คน ธรรมชาติจะจัดสรรให้เราเจอคนเก่งๆ ที่มีพลังงานดีๆ เข้ามาช่วยตลอดเลย ตอนนั้นโปรเจ็คนี้ก็เลยทำเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตอนใหม่ของรายการ Hangover Thailand ที่มีแฟนๆ อยู่แล้ว ใช้ชื่อตอนว่า “เชียงดาว Nature Reconnect” มีต่อ กันต์ เบลล์ และอวัชมาเป็นผู้กำกับ พี่ย้งเป็นโปรดิวเซอร์เอง เป็นความร่วมมือระหว่างนาดาวบางกอก ภาคีฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
พี่โอ๊คบอกว่า การที่จะทำให้คนรู้สึกเห็นคุณค่าในอะไรบางอย่าง เขาจะต้องรักมันก่อน และเขาจะรักสิ่งนั้นจากอะไรได้บ้าง เช่น รักเพราะสวย รักเพราะหอม รักเพราะเย็นสบาย รักเพราะมีความสุข รักเพราะมีประสบการณ์ตรง มีความรู้สึกเชื่อมโยงหรือได้ฟื้นสัมพันธ์กันใหม่ เราจึงเริ่มวันแรกด้วยการเปิดสัมผัสกับธรรมชาติ เช่น เดินป่าต้นน้ำด้วยเท้าเปล่า ทำหน้าต่างใบไม้สีเขียว ทำภูเขาใบไม้ สำรวจหินสีในลำธาร เรียนรู้สมุนไพรพื้นบ้าน ป่าชุมชน ทำขนมปังที่ได้เรียนรู้เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทำให้น้องๆ และทุกคนในทีมมีมุมมองที่ละเอียดขึ้น
วันถัดมาเราเดินเท้าขึ้นสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาวกัน มีหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว หัวหน้าหอพรรณไม้ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำ ผู้จัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลฯ และเจ้าหน้าที่ ขึ้นไปให้ความรู้ระหว่างทางด้วย ถือว่าเป็นทริปที่เพอร์เฟ็คเลยค่ะ ถึงแม้ว่ารอบนั้นจะหมอกทึบ มองไม่เห็นวิวที่ยอดดอยหลวง แต่การได้เข้าไปอยู่ใจกลางธรรมชาติที่สงบเงียบ งดงาม ไม่มีน้ำ ไฟ สัญญาณโทรศัพท์ นอนตั้งแต่สองทุ่มในเต็นท์เล็กๆ มันเป็นประสบการณ์ที่พี่เชื่อว่าทุกคนจะไม่มีวันลืม”

จากการได้ทำกิจกรรมเปิดสัมผัสกับธรรมชาติในวันแรกแล้วเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวในวันที่สอง ทำให้น้องๆ และทุกคนได้เปิดตัวเองเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวในระดับความละเอียดที่มากขึ้น การรับรู้ต่อธรรมชาติย่อมชัดเจนเมื่อทุกคนได้เข้าไปสู่พื้นที่ที่สัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์และยิ่งใหญ่
“พอกลับลงมา เราปิดท้ายด้วยการฟังเสียงสะท้อนกัน ต่อบอกว่า ‘ผมรู้สึกดีมากที่ได้มารู้จักภาคีฯ ชุมชนและเจ้าหน้าที่ทุกคน และเข้าใจแล้วว่าทำไมทุกคนถึงพยายามอย่างมากที่จะดูแลรักษาดอยหลวงเชียงดาว เป็นเพราะว่าที่นี่พิเศษมาก พอผมได้สัมผัสมันจริงๆ รู้เลยว่าเราต้องรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เอาอะไรเข้าไปก็เอากลับออกมาให้ครบ ไม่สร้างขยะทิ้งไว้ และความสวยงามที่พบเจอระหว่างทางมีค่ามากกว่าจุดหมายปลายทางเสียอีก ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับมาอีก มาช่วยดูแลพื้นที่แห่งนี้’ อวัชบอกว่า ‘แค่ได้เดินในธรรมชาติคนเดียวเงียบๆ ก็เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่หาไม่ได้กับชีวิตในเมือง’ กันต์บอกว่า ‘ผมรู้สึกว่าเรายืนอยู่บนพื้นโลกจริงๆ ตอนที่เดินเท้าเปล่าในป่า และทุกก้าวย่างคือชีวิตจริงๆ’ และเบลล์บอกว่า ‘เลิกกลัวสิ่งมีชีวิตเล็กๆ และเข้าใจว่าทุกชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ’ และพี่ย้งก็สรุปว่า ‘นี่ไม่ใช่สารคดีที่จะชวนทุกคนมาเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว แต่นี่คือสารคดีที่จะบอกว่าไม่ว่าคุณจะไปในพื้นที่ธรรมชาติใดๆ บนโลกนี้ คุณก็ต้องมีท่าทีแบบนี้’ เป็นโปรเจ็คที่ประทับใจมากๆ” พี่ชะเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม
ทีมงาน EnvironHack ได้ตามไปชมสารคดีดังกล่าวซึ่งมี 5 ตอน เป็นการสื่อสารที่ให้แง่มุมการเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติที่ดีจริงๆ กดตามไปชมได้ค่ะ ที่ลิงค์นี้ > https://www.youtube.com/watch?v=Je6Xn-wMiX0
UNESCO ประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็น “พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว”
ในวันที่ 15 กันยายน 2564 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็น “พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว” นับเป็นพื้นที่ชีวมณฑลแหล่งที่ 5 ของประเทศไทย
หัวใจสำคัญของพื้นที่สงวนชีวมณฑล คือ ต้องมี ‘มนุษย์’ อยู่ร่วมกับ ‘ธรรมชาติ’ มีการบริหารจัดการพื้นที่ และการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพโดยไม่แยก ‘มนุษย์’ ออกจาก ‘ธรรมชาติ’
“การขอขึ้นทะเบียนดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล เป็นโครงการที่ใช้เวลาหลายปีด้วยความพยายามของ หัวหน้ามล – วิมลมาศ นุ้ยภัคดี และทีมงานทุกฝ่ายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมค่ะ เนื่องจากนิเวศตรงนี้มันพิเศษมาก คือเป็นนิเวศภูเขาหินปูนกึ่งอัลไพน์ มีพืชถิ่นเดียวที่ไม่มีที่ไหนในโลกอยู่ถึง 100 กว่าชนิด ซึ่งเป็นพืชที่คล้ายกับพืชบนเทือกเขาหิมาลัย ดอยหลวงเชียงดาวจึงเป็นพื้นที่ศึกษาธรรมชาติที่โดดเด่น เปราะบาง และมีค่ามาก
เพื่อรักษาพื้นที่ให้คงความเป็นธรรมชาติและถูกรบกวนน้อยที่สุด เราจึงต้องมีกฏกติกาเข้มงวดสำหรับนักศึกษาธรรมชาติทุกคนที่ต้องเข้ามารับฟังการอบรมก่อนเข้าพื้นที่ เรียนรู้ข้อปฏิบัติและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทางภาคีฯ เองก็ได้เข้ามาช่วยทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจัดระบบการจองแบบใหม่ ช่วยดูแลแนวทางการจัดสรรรายได้ที่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดูแลรักษาพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ส่วนการให้นักศึกษาธรรมชาติทุกคนมาอบรมล่วงหน้า 1 วันก่อนจะขึ้นดอยหลวง ก็ช่วยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนได้ อบรมเสร็จเราก็มีการแนะนำว่าที่ไหนน่าเที่ยวบ้าง ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นการหมุนเวียนรายได้ในพื้นที่ ที่พัก ร้านอาหาร ตลาด สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ก็คึกคักตลอดสามเดือน”
แอปพลิเคชัน มหัศจรรย์ดอยหลวงเชียงดาว Offline Application “Doi Chiang Dao Biosphere”
หลังจากเปิดดอยหลวงเชียงดาว พี่ชะยังคงทำงานร่วมกับภาคีเรารักดอยหลวงอยู่ตลอด ทั้งงานเชิงนโยบายและงานกระบวนการ ล่าสุดเมื่อปี 2565 พี่ชะและทีมได้ส่งข้อเสนอ “โครงการมหัศจรรย์ดอยหลวงเชียงดาว: พื้นที่สงวนชีวมณฑลขององค์การยูเนสโกแห่งใหม่ในประเทศไทย” เพื่อสมัครขอทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมของ NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) ได้สำเร็จ ซึ่งโครงการนี้เป็นการจัดทำออฟไลน์แอปพลิเคชันที่ช่วยให้นักศึกษาธรรมชาติได้รับรู้ข้อมูลระหว่างเดินศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาว แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
“ตลอดสิบกว่าปีมานี้ เวลาที่พี่ขึ้นไปทำงานบนดอยหลวงเชียงดาว จะมีหัวหน้าเขตฯ และเจ้าหน้าที่ไปด้วย เจ้าหน้าที่จะชี้ชวนดูต้นไม้ดอกไม้หายาก นก มูลสัตว์ กวางผา แร่ธาตุ เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ซึ่งมันดีมากที่ได้เห็นความพิเศษของธรรมชาติระหว่างทางตลอด 8.5 ก.ม. ทำให้พี่อยากให้ทุกคนที่เดินบนเส้นทางนี้ได้เรียนรู้สิ่งเดียวกันค่ะ (ยิ้ม) เนื่องจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่พกขึ้นไปคือ โทรศัพท์มือถือ ก็เลยคิดเรื่องการทำแอปพลิเคชันเพื่อเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่ที่จะให้ความรู้และเป็นเพื่อนเดินทาง
โจทย์ของเราก็คือ บนดอยหลวงไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เราจึงต้องการออฟไลน์แอปพลิเคชันที่ให้ทุกคนโหลดลงมือถือเอาไว้ล่วงหน้า แล้วมาสแกน QR Code ระหว่างเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อเรียนรู้ ดังนั้น แอปพลิเคชันต้องมีขนาดเล็ก มีภาพไม่มาก มีคลิปไม่ได้ และ ป้าย QR Code ต้องใช้งานง่าย
จากนั้นก็ออกแบบเนื้อหา ย่อยและย่อเนื้อหาสาระที่แสดงความหมาย เลือกโทนการสื่อสารว่าจะเฮฮาร่าเริงเป็นวัยรุ่น หรือจะเป็นมิตร สุขุม และมีความดุเล็กๆ ซึ่งสุดท้ายเราเลือกแบบหลัง เพราะว่าคนที่จะใช้แอปพลิเคชันนี้คือนักศึกษาธรรมชาติ เรากำลังขึ้นไปศึกษาความรู้ ก็ต้องจริงจังหน่อย แต่ว่าก็จะผ่อนคลายด้วยภาพสวยๆ และเรื่องราวระหว่างทาง
พอวางแผนแล้ว ดรีมทีมที่มีทั้งช่างภาพและนักพฤกษ์ ก็เดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปกับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่เขตฯ สำรวจว่าบนเส้นทาง 8.5 กม. นี้ ควรจะมีฐานสแกน QR Code ตรงไหนบ้าง ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ภูมิใจนำเสนออย่างละเอียด อยากเล่าไปหมด ออกมาครั้งแรก 50 จุดแน่ะ เยอะมาก (หัวเราะ) สุดท้ายทอนลงมาเหลือ 28 จุด ซึ่งถือว่ารวบสุดๆ แล้ว แต่เฉพาะบนยอดดอยหลวงเชียงดาว เราตั้งใจให้มี 3 จุดเพราะมีเรื่องราวหลายมิติ หนึ่ง เรื่องพืชถิ่นเดียว Endemic ที่ไปกระจุกตัวอยู่อย่างละลานตาบนนั้น เป็นสวนดอกไม้ของเจ้าหลวงคำแดง สอง คือ 360 องศามหัศจรรย์ธรรมชาติที่มองเห็นเมืองและดอยด้านล่างได้ทุกทิศยาวไปถึงดอยอินทนนท์ และสาม เป็นถิ่นที่อยู่ของกวางผาซึ่งเป็นเจ้าบ้าน
เสร็จจากกระบวนการสำรวจ จดเนื้อหา ถ่ายภาพแต่ละจุดแล้ว ก็ย่อยและเรียบเรียงเนื้อหาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนกระทั่งผลิตออกมาเป็นแอปพลิเคชันและเริ่มใช้เมื่อปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565) โดยเราจะให้นักศึกษาธรรมชาติดาวน์โหลดล่วงหน้ามาก่อน ปกติคนทำแอปพลิเคชันจะกังวลว่าจะไม่มีผู้ใช้ใช่ไหมคะ แต่แอปพลิเคชันของเรานี้มีผู้ใช้รออยู่แล้ว ทุกครั้งที่ใครจองขึ้นดอยหลวง ก็ต้องดาวน์โหลด ซึ่งปีที่ผ่านมามียอดดาวน์โหลดไป 5,000 กว่าคน (ยิ้ม)”
ทีมงาน EnvironHack ได้ลองเข้าไปสำรวจแอปพลิเคชัน Doi Chiang Dao Biosphere แล้ว พบว่ามีข้อมูลและรูปภาพครบเลยมีกติกาข้อปฏิบัติ มีบอกรายละเอียด เช่น จุดไหนมีสัญญาณโทรศัพท์ จุดต่อไปมีระยะทางอีกกี่ กม. อยู่ระดับความสูงใด เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่อยู่ตรงไหน ไม่ต่างจากมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลเลยค่ะ
“ข้อความสำคัญที่ทางภาคีฯ ยึดถือและอยากส่งผ่านไปยังทุกคน คือ ‘ดอยหลวงเชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้าที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต’ ค่ะ เรากำลังจะเปลี่ยนผู้พิชิตให้มาเป็นผู้พิทักษ์ คำว่าพิชิตมันมาพร้อมทัศนคติแบบหนึ่ง คือการตะบี้ตะบันเพื่อให้ไปถึงจุดหมายโดยไม่สนใจระหว่างทาง แต่ถ้าเป็นผู้พิทักษ์ เราจะรู้ว่าเราตัวเล็กกว่าธรรมชาติ และเรื่องราวระหว่างทางก็สำคัญมาก เพราะฉะนั้นเราค่อยๆ เดินไปได้ เรากางเต็นท์ที่จุดพักโดยไม่ต้องเดินไปจนถึงยอดดอยก็ได้ เพราะเราไม่ได้เน้นว่าจะต้องไปให้ถึงยอด ไม่ต้องไปพิชิต ดังนั้นในแอปพลิเคชัน ถ้าไม่ไปถึงยอดดอย ก็สามารถอ่านบทสรุปการเดินทางได้แล้ว ให้คนที่ไม่ได้ขึ้นไปได้เห็นความงดงามยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน
ในการใช้แอปพลิเคชัน สามารถสแกน QR Code เพื่อเก็บคะแนนได้ด้วยนะคะ ถ้าใครสแกนได้เกิน 20 จุด จะมีวีซ่า ใช้เป็นบัตรเบ่ง สามารถนำมาใช้เป็นส่วนลดสำหรับร้านค้าในเชียงดาวที่ร่วมรายการได้ แต่เราไม่ได้บังคับว่าต้องสแกนให้ได้ครบ อย่างที่บอกว่าเราไม่ใช่ผู้พิชิต คะแนนตรงนี้ไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่เขาได้เรียนรู้ธรรมชาติ
เสียงสะท้อนจากคนที่ใช้งานดีมากเลยค่ะ เพราะเราสื่อสารกับคนที่ต้องการฟัง เค้าได้ใช้ก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันดี หรือบางคนที่ยังไม่ได้อินตั้งแต่แรก แต่สุดท้ายทำให้เขาอินได้หรือเขารู้สึกว่ามันมีประโยชน์ เท่านี้เราก็โอเคละ
มีครั้งนึงที่เดินสวนกับนักศึกษาธรรมชาติ แล้วเขาก็บอกว่า แอปพลิเคชันนี้ดีมากเลย ทำให้เดินคนเดียวได้สบาย ไม่รู้สึกกลัวแล้ว เพราะว่าจะมีบอกความสูง บอกระยะห่างระหว่างจุด บอกว่าเดี๋ยวจะเจออะไรบ้าง มีช่วงที่ให้กำลังใจ เช่น ช่วงนี้จะขึ้นเนินเยอะหน่อยนะ สู้ๆ เราคิดว่าเหล่านี้มันเป็นสีสันระหว่างทาง คนก็เลยรู้สึกว่าเหมือนมีเพื่อนเดินป่า เดินคนเดียวได้ ไม่ว้าเหว่
ส่วนที่เป็นเสียงสะท้อนที่น่าจะปรับปรุงก็มีค่ะ เช่น บางจุดเนื้อหายาวเกินไป เดินเหนื่อย อ่านไม่ไหว หรือบางคนอยากได้ข้อมูลสัตว์ นก มากขึ้น เราก็อาจจะพัฒนาไปมีฟีเจอร์ที่ได้ยินเสียงนกก็ได้ เพราะว่าเทคโนโลยีก็ก้าวหน้าอยู่ตลอด ใน 3 ปีข้างหน้าเราอาจจะทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่”
ต่อเนื่องจากแอปพลิเคชัน มหัศจรรย์ดอยหลวงเชียงดาว
“โครงการนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยเป็นความร่วมมือของ 4 ภาคส่วน ภาครัฐ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ภาคการศึกษา คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคเอกชน คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เดคโคโมดา สตูดิโอ และภาคประชาชน คือ ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว และพอเสร็จสิ้นปิดโครงการแล้ว เราก็ได้เป็น 1 ใน 50 ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่โดดเด่นด้วยนะ (ยิ้ม)
สิ่งที่เป็นนวัตกรรมจริงๆ สำหรับแอปพลิเคชันนี้ ไม่ใช่ตัวแอปพลิเคชันเองนะคะ แต่มันคือกระบวนการคิด ที่ส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนที่เข้าไปในธรรมชาติ คือการเปลี่ยนจากผู้พิชิตให้เป็นผู้พิทักษ์ พอผู้คนกลับลงมาแล้วเขาเข้าใจใน 3 ข้อหลักที่เป็นท่าทีพึงประสงค์ คือการเข้าไปศึกษาธรรมชาติอย่างรบกวนน้อยที่สุด เอาอะไรเข้าไปเอากลับออกมาให้ครบ และเรื่องราวอยู่ระหว่างทางมากกว่าจุดหมายปลายทาง พอคนเข้าใจตรงนี้แล้ว แอปพลิเคชันนี้ก็เลยเป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่มาสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
ในโครงการ เรายังมีเว็บไซต์ ( https://www.doichiangdaobiosphere.com/ ) ที่บอกรายละเอียดครบทุกมิติด้วย มีฟีเจอร์ที่นักศึกษาธรรมชาติและคนทั่วไปจะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพื้นที่เชียงดาวได้ ทั้งเป็นแบบสมทบเงินและเป็นแบบร่วมกิจกรรม เช่น การจัดกระบวนการส่งเสริมการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ การดูแลจัดการไฟป่า ช่วยกันทำแนวกันไฟ คือเราอยากให้คนมีส่วนร่วมทั้งปี และอยากให้เขาเห็นว่าตัวเองอยู่ตรงไหนในเส้นเรื่องนี้ตามความถนัดและความพอใจของแต่ละคน พี่มองว่าโปรเจ็คที่จะประสบความสำเร็จ คือโปรเจ็คที่เราเห็นว่ามีใครสามารถอยู่ตรงไหนในกระบวนการได้บ้าง
พอแบบนี้ ตรงนี้ก็จะเป็นพื้นที่กลางที่เราจะได้เชื่อมโยงทุกคนเข้ามาด้วยกัน อย่างน้อยก็ทำให้ภาครัฐ อย่างกรมอุทยาน หรือ กระทรวงทรัพย์ฯ ได้หันกลับมาเห็นว่าตรงนี้มีภาคประชาชน ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ที่พร้อมขับเคลื่อนไปกับภาครัฐ ให้เกิดเป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ๆ ขึ้นมา
ส่วนเรื่องการขยายผล คิดว่าอยากทำอีกหลายๆ ที่ในคอนเซ็ปต์ที่ใกล้เคียงกันตามบริบทพื้นที่ค่ะ อย่างป่าหลังบ้าน-ดอยสุเทพ ที่มีสัญญาณโทรศัพท์ เราสามารถออกแบบการศึกษาธรรมชาติให้สนุกได้เยอะเลย เช่น เจอพืชเจอสัตว์อะไร ถามได้ แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ มีให้กดแชร์ได้ทันที รู้พิกัดว่ามีใครอยู่ตรงไหน สื่อสารกันได้ในเวลาจริง ช่วยในเรื่องความปลอดภัยด้วยเนอะ สิ่งเหล่านี้บนดอยหลวงทำไม่ได้เพราะไม่มีสัญญาณ”
อุปสรรคและความท้าทายในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
“อุปสรรคของงานสิ่งแวดล้อมคือ งบประมาณค่ะ เรื่องเดียวเลย ใจเราก็มีอยู่แล้วถึงทำมาได้นานขนาดนี้ งบประมาณที่ว่านี้ไม่ใช่แค่การทำงานของเรานะคะ แต่ที่ผ่านมาเราเห็นว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้พวกเราได้รับเงินเดือนน้อยมากๆ อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลว่ากรุณาเพิ่มงบให้กระทรวงทรัพย์ฯ หน่อยเถอะ เพิ่มงบให้มาถึงเจ้าหน้าที่นะ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ขณะนี้เงินเดือนไม่ถึงหมื่น แต่ดูแลป่ากันคนละ 30,000 ไร่ มันไม่สมเหตุสมผลเลย ทุกคนที่เราได้สัมผัสเขามีอุดมการณ์ในการทำงานตรงนั้น เราเองก็ทำเพราะจะได้ช่วยกัน มันไม่ใช่แค่ความรักที่เรามีต่อธรรมชาติอย่างเดียว แต่เรากำลังทำเพราะเรามีความรู้สึกขอบคุณต่อคนที่ทำงานตรงนั้นด้วย
นอกเหนือจากนี้ จริงๆ ก็อยากผลักดันให้หลายสิ่งกลายเป็นนโยบายค่ะ จากการที่ได้ทำงานมา พบว่าอะไรที่ได้บรรจุอยู่ในนโยบาย เราจะยังมีความอุ่นใจว่าแนวปฏิบัติกำลังไปทางนั้น สิ่งที่ภาคีฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว หน่วยงานอื่นๆ ชุมชน และเครือข่ายอยากให้เกิดขึ้นก็คือ เราอยากมีแผนแม่บทในการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ตรงนี้แบบระยะยาว เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนหัวหน้าเขตฯ ไปกี่ท่าน นโยบายและกติกายังต้องคงอยู่เพื่อการอนุรักษ์พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวแห่งนี้อย่างยั่งยืน”
พี่ชะมองตัวเองอย่างไร คำที่ใช้เรียกตัวเอง และสิ่งที่อยากฝากไว้
“อืมม พี่เป็นคนชอบทำงานหลังฉาก และรู้สึกว่าต้องมีงานที่ทำสำเร็จทุกวัน สิ่งที่เป็น small success เช่น ทำงานตามเป้าหมายประจำวัน การได้ออกกำลังกาย ทานดี อยู่ดี ดูแลคนรอบข้าง ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีโปรเจ็คและเป้าหมายระยะยาวที่ชุบชูใจด้วย พี่เป็นคนทำทุกอย่างด้วยความรักและความสนุก ถ้าอะไรที่ไม่มีความสุขจะทำได้ไม่นาน สิ่งที่พี่สนุกทำไม่ได้มีเฉพาะงานสิ่งแวดล้อมนะ ยังมีงานศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมด้วย ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่จัดสรรมา พี่เพิ่งมาค้นพบว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันตรงกับ อิคิไก ของญี่ปุ่น คือเป็นงานที่ทำได้ดี เป็นสิ่งที่รัก เป็นสิ่งที่หาเลี้ยงชีพได้ และเป็นสิ่งที่โลกต้องการ ตอนนี้พี่คิดว่าพี่อยู่จุดนั้นแล้ว (ยิ้ม) เป็นจุดที่น่าจะมีความสุขที่สุดในชีวิตแล้วล่ะ เราพาตัวเองมาถึงตรงนี้จาก passion ล้วนๆ เป็นงานที่มีผลกระทบที่ดีกับส่วนรวม และส่วนมากเป็นงานที่ไม่มีผลประโยชน์เรื่องเงินเลย
คำที่ใช้เรียกตัวเองเหรอ (ครุ่นคิด) เป็น activist ได้ไหม เอางี้ เดี๋ยวพี่เอา CV ให้ดู แล้วช่วยบอกว่าพี่เป็นอะไรดีไหม (หัวเราะ) ล่าสุดมีคนดู CV พี่แล้วถามว่า ทำทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไร เพราะมันมีหลายมิติและใช้พลังงานเยอะมาก พี่บอกว่าพี่อยากทำเพื่อเมืองเชียงใหม่ และพี่ไม่อยากไปอยู่ที่อื่นน่ะ พี่ว่าพี่เป็นนักลงมือทำ หมายความว่าเวลาพี่คิด พี่จะทำด้วย พี่เป็นคนที่เห็นภาพสุดท้ายของงานเสมอ ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตามจะมีภาพงานสำเร็จไว้ตลอด แล้วพาตัวเองไปถึงด้วยนะ และต้องไม่ใช่งานที่ง่าย คิดว่าทุกครั้งที่เราทำงานยากสำเร็จ เราจะเติบโต เป็นคนชอบเติบโตค่ะ
พี่ชะโชคดีที่เกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา งานที่ได้ทำส่วนใหญ่เป็นงานที่มีความสุข และมีประโยชน์กับส่วนรวม โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เข้ามาอยู่ในคณะสถาปัตย์ มช. ซึ่งมีอยู่สองคนในชีวิตที่คอยผลัก ดึง ประคอง โกย เป็น Super supporter คือคณบดี อ.ต้อม ศ.ดร.รวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี ที่ให้อิสระ คำแนะนำ และเป้าหมายที่สูงขึ้นกับพี่ในทุกย่างก้าว กับ ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะวัติ บุญ -หลง คุณพ่อที่เป็นของขวัญของชีวิต เป็นคนอยู่ในทุกการเดินทางของพี่ คอยประคับประคอง ให้สติปัญญา และให้ความมั่นใจในการทดลองของพี่เสมอ ทำให้พี่รู้สึกถึงคำว่า Stay where you can grow เราควรอยู่ในที่ที่เราสามารถเติบโตได้
พี่ว่าพี่อยากให้ทุกคนได้ค้นเจอความสนุก ความสุข และความสำเร็จตามบริบทของตัวเอง พี่อาจจะทำบางอย่างได้ดีมาก แต่บางเรื่องพี่ก็ทำไม่ได้ เช่น หาเงินร้อยล้าน อันนั้นพี่ทำไม่เป็น สิ่งที่พี่ทำคือทำตามสิ่งที่มนุษย์ 1 คนทำได้ โดยมีแรงสนับสนุนของทั้งดรีมทีมและคนที่ผลักดันที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์พอที่จะรู้ว่าเราควรจะไปทางไหน การได้เจอคนที่ทำให้เราไปได้ถูกที่ถูกทาง เป็นสิ่งสำคัญจริงๆ
สิ่งที่พี่อยากฝากไว้ในฐานะคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นงานระยะยาวที่ไม่ได้เห็นผลในวันนี้พรุ่งนี้ พี่ว่าเราต้องทำในสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ซื่อสัตย์และมั่นใจในความตั้งใจดีของเรา เรื่องที่สองคืออย่าเบียดเบียนตัวเอง พี่เคยทำงานที่เบียดเบียนตัวเองมาแล้ว ถึงแม้ผลลัพธ์จะยิ่งใหญ่ แต่ในที่สุดเรารู้สึกว่ามันไม่สำเร็จทั้งหมด เพราะเราเองที่ต้องให้มากกว่าที่ควร อย่างเช่นเสียเงินเยอะ ใช้พลังงานเยอะเกิน หรือทำให้สุขภาพแย่ เรื่องสุดท้ายก็คือ เราต้องลงมือทำด้วยความรัก ทำด้วยใจ
และสำคัญที่สุด teamwork makes the dream work ค่ะ พี่มีดรีมทีมที่อยู่กันมาเป็นสิบปี และเพิ่มมาเรื่อยๆ ทั้งทีมภาคีฯ ทีมช่างภาพ นักพฤกษ์ อาจารย์ เพื่อนพี่น้องต่างอาชีพ หัวหน้าและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และอีกหลายหน่วยงาน เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำอะไรดีๆ ด้วยกัน และไม่ใช่งานอาสาสมัครด้วยนะ มีการดูแลหรือให้ค่าตอบแทนทุกครั้ง ซึ่งพี่ให้คุณค่าตรงนี้มาก หลายคนมาเริ่มเดินป่าครั้งแรกก็ที่ดอยหลวงเชียงดาว แบกอุปกรณ์ทำงาน เดินเท้าขึ้นลงไม่รู้กี่รอบกี่โปรเจ็ค กินอยู่หลับนอนลำบากไปหมด พี่ว่ามันไม่ใช่แค่การทำงานนะ แต่มันคือความรักบวกกับความทุ่มเทที่ทุกคนมี
พี่ว่า ทุกคนต้องมนต์ดอยหลวงซะแล้วล่ะ” พี่ชะทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงที่มีความสุขและสดใส ?