ครั้งแรกที่ AICHR เปิดพื้นที่หารือกับตัวแทนเด็กจากประเทศอาเซียน เกี่ยวกับสิทธิของเด็กต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย 

แชร์โพสต์นี้
Facebook
Twitter
Email
เมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมา เวลา 13.30 - 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการหารือระหว่าง AICHR กับตัวแทนเด็กจากแต่ละประเทศใน ASEAN ในงานประชุม “Special Meeting 1/2023” ที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียค่ะ

AICHR คือ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค อยู่ภายใต้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ใน AICHR ประกอบด้วยตัวแทนหนึ่งคนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจากรัฐบาลของตน มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเจรจา ความร่วมมือ และการเสริมสร้างศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน

เป้าหมายของ AICHR คือการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสิทธิของกลุ่มเปราะบาง

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยค่ะ ที่ AICHR ได้เปิดพื้นที่หารือกับตัวแทนเด็กจากแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมและสนับสนุนสิทธิของเด็กต่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และยั่งยืน

เด็กที่ได้เข้าไปในการประชุมหารือครั้งนี้ มีจำนวน 11 คน มีอายุ 11-17 ปี เป็นตัวแทนจาก 7 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน และ ประเทศสิงคโปร์  ได้มารวมกันเพื่อเตรียมตัวและเข้าไปพูดคุยหารือกับ AICHR ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของ CRC Asia (Child Rights Coalition Asia) 

CRC Asia เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อเด็ก โดยมีเป้าประสงค์คือการทำให้เด็กทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างมีความสุข และได้ใช้สิทธิอย่างเต็มที่ CRC Asia ทำงานร่วมกับองค์กรที่ทำงานเพื่อเด็ก (แตร์ เด ซอมม์ เยอรมัน กับ และ World Vision International) โดยได้เสนอให้เกิดกิจกรรม ‘หารือร่วมกับเด็ก’ ในการประชุมของ AICHR เป็นครั้งแรกได้สำเร็จ

เวลารวมทั้งหมดในการหารือคือ 2 ชั่วโมง แต่เด็กๆ ทุกคนมาถึงเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียก่อนหน้านั้น 1-2 วันเพื่อเตรียมประเด็นของตัวเองและฝึกซ้อมการพูด เพื่อให้การสื่อสารตรงตามใจความและกระชับ

ตัวแทนเด็กจากประเทศไทยได้พูดถึงความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก นั่นคือ 

  1. ที่ดิน (จากการออกกฏหมายป่าไม้และอุทยานทับที่ดินทำกินของชุมชน) 
  2. โครงการก่อสร้างเขื่อน โรงโม่หิน และเหมืองแร่ 
  3. การใช้สารเคมีในเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ที่ทำให้เกิดสารพิษในดิน น้ำ และอากาศ
  4. โรงเรียนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน
  5. สิทธิของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และการให้เด็กมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในการวางแผนหรือการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลต่อเด็ก ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ

หลังจากการนำเสนอประเด็นที่เด็กๆ แต่ละคนกังวลแล้ว ยังมีการพูดถึงข้อแนะนำจากเด็กๆ ต่อ AICHR และมีการถามคำถามด้วย ตัวแทนคณะกรรมการ AICHR แต่ละประเทศ ได้ตอบคำถามและสะท้อนคำแนะนำของเด็กๆ นับเป็นครั้งแรกที่มีการให้พื้นที่เด็กๆ เข้าไปร่วมหารือในการประชุมระดับอาเซียน ในเรื่องสิทธิของเด็กต่อการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และยั่งยืน

ทีมงาน EnvironHack รู้สึกประทับใจต่อการทำงานอย่างมุ่งมั่นและแข็งขันของทีมทำงานทุกคนจากทุกองค์กร ที่ตั้งใจร่วมกันผลักดันให้เด็กมีสิทธิส่งเสียงต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เราทุกคนร่วมกันใช้ และร่วมกันได้รับผลกระทบ การออกแบบวางแผนใดๆ ที่ส่งผลต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กระทบกับคุณภาพชีวิต จำเป็นต้องหารือกับคนอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกับคนที่มักถูกบอกว่าให้เงียบๆ ไว้ก่อน หนึ่งในนั้นก็คือเด็กๆ นั่นเอง ???

หากสนใจเรื่องสิทธิเด็กต่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในลิงค์นี้ > https://environhack.com/2023/07/02/cr2he/

ข่าวสาร/บทความล่าสุด

ติดตามพวกเราได้ที่