ก่อนอื่น เรามาทบทวนกันก่อนว่าสิทธิเด็กคืออะไร
สิทธิเด็ก คือ สิ่งที่เด็กอายุ 0-18 ปีทุกคนควรมีหรือกระทำได้ในฐานะความเป็นมนุษย์ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี หมายรวมถึงสิทธิ 4 ประเภท ได้แก่
- สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival): สิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยนับตั้งแต่คลอด ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาเหมือนหรือแตกต่างทั้งทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม
- สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development): สิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ โภชนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ
- สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection): สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิด และการทารุณกรรมทุกรูปแบบ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
- สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation): สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง
ทั้งนี้ รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกสัญญาที่จะดำเนินการและปกป้องสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) สำหรับในประเทศไทย ได้ถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535
หลายปีที่ผ่านมานี้ วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน เด็กๆ ผ่านความยากลำบากที่เกิดจากสภาพอากาศ มลภาวะทางอากาศ น้ำที่ไม่เพียงพอ การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ แม้แต่การระบาดของ COVID-19 ทั้งหมดนี้คุกคามถึงสิทธิในชีวิต สุขภาพ พัฒนาการ วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยของเด็ก
เพื่อลดภัยคุกคามดังกล่าวให้เด็กทุกคนได้มีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ รัฐจึงต้องยึดผลประโยชน์สูงสุดของเด็กมาพิจารณาในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามแนวปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้เด็กได้เติบโต ได้เรียนรู้ และได้เล่นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย
CR2HE มาจากไหน?
CR2HE เป็นหลักการและแนวทางนโยบาย โดยมีหน่วยงานขององการสหประชาชาติ 3 แห่ง (UN environment programme, unicef, UN human rights) ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและผู้ใหญ่เพื่อพัฒนาชุดหลักการและแนวทางนโยบาย
นอกจากนี้ หลักการและแนวทางนโยบายเฉพาะของพื้นที่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเกิดจากการระดมความเห็นและทำงานร่วมกันของเยาวชนอายุ 14 – 18 ปี จากประเทศไทย อินโดนีเซีย บูไน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ด้วย ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child)
สิทธิของเด็กต่อการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน (Children’s Rights to a Safe, Clean, Healthy and Sustainable Environment)
จากกระบวนการให้คำปรึกษาและวางแผนนโยบายจากผู้เชี่ยวชาญ ได้ระบุและจัดอันดับสำคัญ 10 ประเด็นแรก สำหรับสิทธิเด็กต่อการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน ซึ่งทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับรองว่าจะปฏิบัติตามอนุสัญญานี้
- การจัดการและรับมือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมทุกปัญหา ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ การจัดการสารเคมี สารที่เป็นพิษและอันตราย ขยะ ผลกระทบจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรน้ำ และระบบนิเวศทางทะเล
- การออกข้อกำหนดและการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยรัฐและนำแนวนโยบายไปปฏิบัติจริง ซึ่งในการปฏิบัติ รัฐบาลต้องมีส่วนร่วม ตรวจสอบ และถ่วงดุลด้วย
- บูรณาการประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปกับการศึกษาอย่างคำนึงถึงบริบทและภาพรวมทางสังคมของเด็ก ให้เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมทั้งในระดับส่วนตัว ระหว่างเด็กและคนในครอบครัว/คนรอบข้าง ในระดับชุมชนและโรงเรียน ในระดับองค์กร ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคพลเมือง และองค์กรของรัฐทุกภาคส่วน
- การคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เด็กมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงปกป้องเด็กจากการถูกคุกคาม การตอบโต้ที่รุนแรง และการก่อกวน จากการมีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นของเด็ก
- การเข้าถึงข้อมูลและความรู้ของเด็ก ที่เหมาะสมกับวัย คำนึงถึงเรื่องเพศอย่างระมัดระวัง เป็นข้อมูลที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่นของเด็ก ไม่ว่าจะผ่านสื่อชนิดใด ทั้งวิทยุ ภาพและเสียง สื่อออนไลน์และออฟไลน์ ต่อเนื้อหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิเด็ก
- การมีส่วนร่วมของเด็กต่อการตัดสินใจในกระบวนการ/การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
- ระบบการเข้าถึงความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเด็ก แพลตฟอร์มที่เด็กสามารถรายงานการละเมิดสิทธิของตนเองต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน รวมถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับการถูกละเมิดสิทธิเหล่านั้น
- บทบาทและหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องร่วมรับผิดชอบและเคารพสิทธิของเด็กต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน รวมทุกกิจกรรมทั้งที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ และกิจกรรมที่เป็นธุรกิจข้ามพรมแดน
- การริเริ่มลงมือทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่นำโดยเยาวชนและชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมในระดับครอบครัว ดำเนินการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยหน่วยงานทุกระดับ มีกลไกรองรับกิจกรรมอย่างเป็นทางการและขยายผลกิจกรรมที่นำโดยชุมชน
- ส่งเสริมความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่าจะเป็นเด็กในชนบท เด็กในเมือง และเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง
แนวทางที่เด็กๆ (และเราทุกคน) สามารถทำได้
แนวทางในการเรียนรู้
- บอกครูและผู้ปกครองว่าเราต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของเด็กในการมีแวดล้อมที่ดี ช่วยครูและผู้ปกครองโน้มน้าวหน่วยงานการศึกษาให้บรรจุเนื้อหาและกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
- ริเริ่มด้วยตนเองในการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของเด็กต่อแวดล้อมที่ดี
- มีส่วนร่วมในการตรวจสอบกิจกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหา และเรียนรู้จากกิจกรรมเหล่านั้น
- เรียนรู้ทักษะที่จะต้องใช้ในการรับมือกับสิ่งที่เราและชุมชนต้องรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยใดๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อม
- ตามหาว่าใครเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในชุมชนของเราและในระดับประเทศ ติดตามโซเชียลมีเดียของพวกเขาเพื่อจะได้รับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์และข้อมูลล่าสุด
- หาข้อมูลเกี่ยวกับการริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนคนอื่นๆ ในประเทศและในระดับโลก รวมทั้งวิธีที่จะสามารถทำสิ่งเดียวกันในชุมชนของเราเอง
- รับข่าวสารเพื่อติดตามเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราและชีวิตของเด็กทั่วโลก
แนวทางในการพูดคุยแลกเปลี่ยน
- พูดคุยกับเพื่อน ผู้ปกครอง และคนอื่นๆ ที่อาจไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของเด็กต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี
- บอกครูและผู้นำในชุมชนของเราว่าเราต้องการมีส่วนร่วมในการเสนอกิจกรรมในโรงเรียนและชุมชนที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิของเด็กต่อสภาพแวดล้อมที่ดีรวมทั้งการรับมือกับ climate change และภัยจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
- บอกครูและผู้นำในชุมชนของเราว่าตนเองและเด็กคนอื่นๆ ต้องการข้อมูลที่เป็นมิตรต่อเด็กเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ใช้โซเชียลมีเดียแบ่งปันข้อมูลแก่เพื่อนและคนอื่นๆ ว่าเราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของเด็กต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี
แนวทางในการรณรงค์เชิงนโยบาย
- บอกกับผู้ปกครอง ครู และผู้นำในชุมชน ว่าเด็กต้องการกฎหมาย นโยบาย และข้อปฏิบัติที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิธีที่ชุมชนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- บอกกับผู้นำในชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ ว่าพวกเขาต้องมีแผนการและงบประมาณสำหรับการมีส่วนร่วมของเด็กในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
- ร่วมมือกันในกลุ่มเพื่อการส่งเสียง/ร้องเรียน หากสิทธิของเราต่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีถูกละเมิด และแชร์ประสบการณ์การร้องเรียนนั้นด้วย
- หาวิธีทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ที่เขาได้ส่งเสียง/ร้องเรียนในนามของเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิต่อการมีแวดล้อมที่ดี
- เฝ้ามองและบันทึกผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ระบุว่าสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อชุมชนของเราหรือไม่ และส่งผลกระทบอย่างไร
แนวทางในการเล่น
- ใช้เวลาในการอยู่ด้านนอกใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมและสำรวจโลกรอบตัว
- หากิจกรรมที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้และสนุกด้วย
- นึกถึงกิจกรรมที่สนุกและได้อยู่ข้างนอกอาคารและพาเพื่อนไปด้วย
- บอกพ่อแม่และผู้ใหญ่คนอื่นๆ ว่าเราต้องการพื้นที่กลางแจ้งที่ปลอดภัยต่อการเล่น
แนวทางในการเข้าร่วม/มีส่วนร่วม
- มีส่วนร่วมในการสร้างกลุ่มขึ้นมาในชุมชนเพื่อที่จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเราเองและเด็กทุกคนในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
- มีส่วนร่วมในเครือข่ายที่มีอยู่แล้วที่ทำงานเพื่อส่งเสริมให้เด็กและคนอื่นๆร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ค้นหาว่าชุมชนและประเทศของเรากำลังทำอะไรที่เป็นการวางแผนต่อการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งวิธีที่เราและเด็กคนอื่นจะมีส่วนร่วมในการวางแผนกิจกรรมเหล่านั้น และติดตามให้กิจกรรมดำเนินไปด้วยดี
- มองหาข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่ม สโมสร เครือข่าย แนวร่วม และการรณรงค์ระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เด็กคนอื่นๆ เข้าร่วมด้วย
- มีส่วนร่วมในแคมเปญต่างๆที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และเข้าร่วมกลุ่มในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
ด้านบนนี้เป็นแนวทางสำหรับเด็กและเยาวชนที่สามารถทำได้ และเชิญชวนให้ลงมือทำค่ะ ถัดจากนี้เป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่ในภาคส่วนต่างๆ จะสามารถให้ความร่วมมือกับเด็กๆ ได้
แนวทางที่ชุมชน/ภาคประชาสังคม (Community/Civil Society Actors) สามารถทำได้
- ช่วยเด็กๆ คุ้มครองสิทธิเด็กในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยวิธีการที่เด็กๆ จะปลอดภัย
- ทำงานร่วมกับเด็ก เพื่อแนะนำแนวปฏิบัติที่ใช้ได้จริงในการดูแลสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ เช่น กระบวนการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ด้วยวิธี “ลดใช้-ใช้ซ้ำ-ใช้ใหม่”
- สนับสนุนให้ภาครัฐ โรงเรียน ภาคธุรกิจ และชุมชน เคารพและปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้
แนวทางที่คนภาคธุรกิจ (Business) สามารถทำได้
- หมั่นตรวจสอบกิจกรรมทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการดำเนินกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กและสิ่งแวดล้อม
- ทำให้แน่ใจว่าทุกคนในบริษัทเข้าใจและเคารพสิทธิเด็กต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี
- รับฟังเสียงของเด็กก่อนตัดสินใจดำเนินการใดๆทางธุรกิจ
แนวทางที่สื่อ (media) สามารถทำได้
- รายงานข่าวถึงสิ่งที่ภาครัฐและภาคธุรกิจทำ ทั้งที่เป็นการเคารพหรือละเมิดสิทธิเด็กในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี
- ผลิตสื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมสำหรับเด็ก
- รายงานข่าวกิจกรรมดีๆที่เด็กๆเป็นผู้จัดเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกเหนือจากแนวทางที่แนะนำไปข้างต้น ยังมีอีกหลายวิธีการที่เด็กๆ และผู้ใหญ่ทุกคนสามารถทำร่วมกันได้ เพื่อให้เด็กได้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน
มาช่วยกันติดตามและลงมือทำสิ่งเหล่านี้กันนะคะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและเราทุกคน เพื่อสุขภาพที่ดีของสิ่งแวดล้อมและโลกของเราค่ะ
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
https://bangkok.ohchr.org/wp-content/uploads/2021/10/PPG.pdf
https://bangkok.ohchr.org/wp-content/uploads/2022/03/Thai-Child-friendly.pdf