คนที่เรามีโอกาสคุยด้วยในวันนี้ คือคนที่อยู่ในวงการงานจัดแสดง (Exhibition) เขามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจนถึงวันจบงาน เป็นคนที่ทั้งออกแบบ ผลิต ติดตั้ง และรื้อถอน ทั้งของตบแต่ง ดิสเพลย์ และโครงสร้าง สิ่งที่ได้พบเจอในช่วงเริ่มต้นทำงานนี้เองที่ทำให้สถาปนิกคนหนึ่งเกิดความ “โมโห” และตัดสินใจว่าต่อจากนี้ เขาจะเปลี่ยนวิธีการ!
ตูน — ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล เป็น Productor ของโมโหสตูดิโอ (MOHo Studio) สตูดิโอที่หมายมั่นว่าจะออกแบบและผลิตผลงานในงานจัดแสดงโดยใช้วัสดุกระดาษและคำนึงถึงการสื่อสารอย่างเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สัตว์และธรรมชาติ

“จุดเริ่มต้นของการเลือกมาทำงานกระดาษ จริงๆ มันเริ่มจากการเห็นปัญหาก่อน หลังเรียนจบผมทำงานเป็นสถาปนิก ผ่านไปไม่กี่ปีก็ขยับมาทำงาน Exhibition ออกแบบ display พอมาทำตรงนี้ก็ได้เห็นด้วยตาตัวเองว่าสิ่งที่เราออกแบบมันสร้างปัญหา คือเราออกแบบงานพวกนี้ ใช้เวลาเป็นเดือนๆ แต่หลังจากที่จบงาน ทุกอย่างกลายเป็นขยะหมดเลย ลูกค้าเขาก็ไม่เอากลับ สิ่งที่เราตั้งใจออกแบบกลายเป็นขยะที่กองใหญ่มาก เราต้องหารถมาเก็บ หาคนมาเคลียร์ เสียทั้งพลังงานและค่าจัดการขยะต่างๆ เราไม่เคยนึกมาก่อนว่าสิ่งที่เราออกแบบจะมาเป็นปัญหาที่ปลายทาง กลับจากงานนั้นมาด้วยความรู้สึกโมโหมาก และคิดว่าถ้ามีออฟฟิศของตัวเองจะต้องชื่อ ‘โมโห’ นี่แหละ
จากวันนั้นก็เอามาคิดต่อ ว่าจะแก้ปัญหาขยะหลังจบงานได้ยังไง มาคิดว่าทำไมเราไม่พัฒนางานจากกระดาษ ทำบูธเป็นกระดาษ ทำเฟอนิเจอร์เป็นกระดาษ ในเมื่อมันเป็นงานใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตอนนั้นรู้สึกว่ากระดาษคือทางออก พอมีโอกาสถึงเวลาที่เหมาะสม ก็เริ่มเปิด โมโหสตูดิโอ ด้วยฐานต้นทุนเดิมในเรื่องงานพิมพ์ งานกระดาษ ซึ่งเป็นธุรกิจของญาติ พอเอามาผสมกับความรู้ทางด้านสถาปัตย์ ก็พบว่ามันเป็นสิ่งใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะของงาน exhibition ได้”
ตอนที่ยังใช้วัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระดาษ จัดการขยะยังไง?
“ขยะในตอนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นโครงไม้และโครงเหล็ก ต้องเรียกแรงงานมาช่วยแกะ ทุบ รื้อ แล้วพอรื้อเสร็จ โห มันเป็นขยะกองใหญ่เลย
จริงๆ ตอนที่ขนมาเราก็รู้แล้วว่ามันเยอะ เราต้องทำให้พร้อมติดตั้งและยกจากโรงงานมาเป็นชิ้นใหญ่ๆ ใช้รถหกล้อ 1-2 คันต่อครั้งในการขนชิ้นงานทั้งหมด ซึ่งก็เป็นความสิ้นเปลืองและใช้พลังงานมากเหมือนกัน
ขยะจากงานเหล่านี้จะเป็นทั้งขยะที่รีไซเคิลได้ อย่างพวกเศษไม้ เศษเหล็ก และขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ เราก็ขนเกือบทั้งหมดไปที่จุดทิ้งขยะ มันจะมีบ่อขยะใหญ่อยู่ เราเอาไปวางไว้ ที่นั่นจะมีคนคอยแยกขยะเพื่อเอาส่วนที่รีไซเคิลได้ เช่น เอาเศษไม้ไปทำเอ็มดีเอฟ แต่เพราะแบบนี้ การจัดการขยะจริงๆ มันจึงเริ่มที่ตรงนั้น แล้วส่วนที่ไม่ถูกแยกไปรีไซเคิลก็จะกองเป็นขยะที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราจัดการไม่ทัน ก็ได้เห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี่แหละว่าเรามีส่วนสร้างผลกระทบ เป็นคนทำให้เกิดขยะ”
พอทำโมโหสตูดิโอจึงตั้งใจว่าการออกแบบหลังจากนี้ จะใช้กระดาษเป็นหลัก?
“ใช่ ตอนนั้นตั้งใจจะออกแบบโดยให้วัสดุหลักเป็นกระดาษไปเลย แล้วก็ทำแบบนั้นมาตลอดนะ ระหว่างที่ทำงานกับกระดาษ เราก็ได้เรียนรู้ philosophy ของกระดาษจากตอนได้เรียน โอริกามิ (Origami) ที่ญี่ปุ่น โอริ คือ การพับ กามิ คือ กระดาษ ดังนั้น โอริกามิ คือศาสตร์การพับกระดาษ ถ้าเราพับกระดาษให้ขึ้นรูปแล้วมันจะต้องคลี่กลับคืนได้ ถ้าอะไรที่มันแยกถอดออกจากกันแล้วพับคืนไม่ได้ ก็ถือว่าไม่ใช่ เราเลยตีความจากศาสตร์นี้มาใช้ในงานออกแบบของโมโหสตูดิโอ ก็คือ ถ้าขึ้นรูปงานแล้ว เราต้องสามารถคลี่หรือถอดออกอย่างเป็นระเบียบได้
งานของโมโหสตูดิโอ ส่วนใหญ่จะเป็นงานโครงสร้าง ซึ่งก็ต้องถอดประกอบได้ เราจะไม่ขึ้นเป็นชิ้นใหญ่ๆ แล้วใช้รถหลายคันมาขนแล้ว แต่จะไปพับขึ้นรูปกันที่งานเลย ทำแบบนี้ช่วยลดการสูญเสียพลังงานจากการขนส่งได้ อย่างตอนช่วงโควิด โมโหสตูดิโอทำเตียงกระดาษส่งไปต่างจังหวัด เราออกแบบให้กระดาษถูกพับไว้ เลยทำให้ขนเตียง 200 เตียงไปถึงปลายทางด้วยรถกระบะคันเดียว พอไปถึงก็ค่อยคลี่ออกมาประกอบ พอทำแบบนี้ก็ยิ่งเห็นว่ามันดีมากเลย ช่วยประหยัดพื้นที่จัดเก็บ ประหยัดการขนส่ง ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint) ด้วย”

งานออกแบบโดยใช้กระดาษ มีคุณค่าอย่างไรบ้างต่อสิ่งแวดล้อม?
“งานกระดาษช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเยอะเลยนะ เพราะกระดาษเป็นวัสดุที่จัดการง่ายถ้าเทียบกับวัสดุอื่น ถ้าเราใช้ไม้หรือเหล็ก มันจะต้องมีวิธีการ มีเครื่องจักร และพลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตเยอะ แต่พอเป็นกระดาษ มันแทบจะไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เพราะหลังจากที่เราผลิตมาแล้ว จะเป็นการเอามาขึ้นรูปด้วยแรงคน อีกอย่างคือเมื่อจบงานแล้ว กระดาษจะถูกจัดการได้ง่ายมาก เราไม่ได้มองแค่การส่งไปรีไซเคิลนะ ด้วยความที่มันถอดประกอบได้ พับเก็บได้ มันก็สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ เช่น เก้าอี้กระดาษ หรือ กล่องดิสเพลย์ พอวัสดุมันเบา เราออกแบบให้จัดเก็บและใช้งานง่าย มันก็มีโอกาสที่จะถูกนำมาใช้ซ้ำ ไม่เสียของกลายเป็นขยะ
เรามีแนวคิดเรื่องการซ่อมแซมด้วย อย่างงานที่เป็น modula กระดาษ เป็นการขึ้นแพทเทิร์นไว้แบบเดียวแล้วเอามาวางซ้อนกันให้พอดีเหมือนต่อเลโก้ ถ้าชิ้นไหนเสีย เราก็แค่ผลิตชิ้นนั้นเพิ่ม วิธีนี้ทำให้เราสามารถซ่อมแซมงานโดยใช้พลังงานน้อยที่สุด ชิ้นงานแพทเทิร์นเดียวนี้ยังสามารถเอามาต่อประกอบได้ 2-3 แบบ ขึ้นอยู่กับข้อต่อที่เราวางไว้ งานแบบ modula design นี่โมโหสตูดิโอออกแบบมา 5-6 patterns แล้ว”
กระดาษที่โมโหสตูดิโอใช้ทำงานออกแบบมาจากไหน ผลิตใหม่หรือรีไซเคิล?
“ถ้าเป็นกระดาษ ยังไงเราก็ผลิตมันขึ้นมาด้วยการรีไซเคิลนะ
ส่วนผสมของกระดาษที่นำมารีไซเคิลจะมีอยู่ 2 ตัว คือตัวเยื่อกระดาษ กับ ตัวหมึกพิมพ์ ตอนรีไซเคิลกระดาษจะถูกโยนลงบ่อ ในบ่อจะมีการแยกชั้นสารออกจากกัน เราจะนำเอาเฉพาะเยื่อกระดาษประมาณ 80% มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการใช้สารตั้งต้นในการผลิตกระดาษได้ จากนั้นเติมเยื่อใหม่ 10% เติมแป้งและสีอีก 10% ก็ได้กระดาษใหม่แล้ว กระดาษทุกชนิดที่ไม่เคลือบฟิล์มพลาสติกสามารถรีไซเคิลได้หมด เพราะอย่างนี้ที่โมโหสตูดิโอก็เลยเลี่ยงไม่ติดสติกเกอร์บนกล่องกระดาษ
ถ้าเราดู ecosystem process ของการ recycle เราจะพบว่า การ recycle ใช้พลังงานพอๆ กับการผลิตขึ้นมาใหม่เลย แต่การใช้เนื้อเยื่อเดิมมาตั้งต้นก็ช่วยให้เราไม่ต้องตัดต้นไม้เพิ่ม”
ดังนั้น การใช้กระดาษย่อมดีกว่าการใช้วัสดุอื่น เช่น พลาสติก โฟม เหล็ก?
“เราจะไม่มองว่ากระดาษดีกว่าหรือแย่กว่า แต่เราถือว่ากระดาษเป็นทางเลือกหนึ่งของการใช้วัสดุ เรารู้ว่ากระดาษไม่ได้ทนทานในทุกสภาพ อย่างความเปียก ความชื้น อายุของกระดาษก็ไม่อยู่ยืนยาว จริงอยู่ มันอยู่ที่การเก็บรักษาด้วย แต่ในแง่การใช้งานและ life cycle ของกระดาษก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงถือว่ากระดาษเป็นวัสดุทางเลือกที่จะช่วยลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เยอะ”

ในวงการ exhibition มีการสร้างคาร์บอนฟุตพรินท์มากไหม?
“ในการจัด exhibition แต่ละครั้ง สามารถสร้างคาร์บอนฟุตปริ้นได้เยอะมากตลอดตั้งแต่ช่วงเตรียมงานจนถึงเสร็จงาน ตั้งแต่การดีไซน์ ปริมาณวัสดุที่ใช้ การผลิต การติดตั้ง การทำลายรื้อถอน ใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานน้ำมัน แค่งานเดียวอาจสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นหลักแสนตันได้แล้ว
เรื่องนี้ โมโหสตูดิโอกับองค์กรพาร์ทเนอร์กำลังอยู่ในระหว่างการริเริ่มโปรเจ็คที่จะช่วยประเมินการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากงาน exhibition ถ้ามันเกิดขึ้นได้สำเร็จ เชื่อว่าจะทำให้วงการ exhibition ตื่นตัวเรื่องการจัดงานอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและหาวิธีการใหม่ๆ เช่น มีการออกแบบโดยยืดอายุวัสดุที่นำมาใช้งานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์ การปรับเปลี่ยนแบบนี้ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก”
โมโหสตูดิโอจะเป็นผู้ช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้กับวงการ exhibition อย่างไรบ้าง?
“โมโหสตูดิโอให้การบริการ สิ่งที่จะช่วยได้มากที่สุดก็คือการออกแบบ และงานของเราใน exhibition จะไม่สร้างปัญหาเพิ่ม เราทำงานให้ลูกค้าได้ครบวงจรเลย เพราะการจะสื่อสารถึงแบรนด์ใดๆ ใน exhibition นอกจากความสวยงามแล้ว เราจะต้องเรียนรู้ตัวตนของเขาด้วย เช่น หน่วยงานนี้ เขาทำอะไร เขาสื่ออะไร เขาจะทำอะไร เราต้องรู้จักเขาให้ดีก่อนที่จะออกแบบให้เขา เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เราไม่ได้เป็นแค่นักออกแบบเพื่อออกแบบ แต่เราอยากเข้าใจธุรกิจเขาเพื่อจะได้สื่อสารในแบบที่เป็นตัวเขาได้มากที่สุด
เราไม่ได้รับทำให้ลูกค้าทุกคนที่เข้ามานะ เราเลือกลูกค้าที่ยืนยันเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน ถ้าเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือกระบวนการผลิตสินค้าของเขาทำลายสิ่งแวดล้อม เราก็ไม่ได้รับทำ แต่เราปฏิเสธอย่างมีเหตุผลนะ เนื่องจากเราต้องเป็นตัวกลางสื่อสารถึงตัวตนของเขาผ่านงานดีไซน์ เพื่อให้งานดีไซน์เล่าเรื่องด้วยตัวของมันเองได้ในงาน exhibition ดังนั้นถ้าองค์กรไหนทำเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วหรือกำลังจะเริ่มทำอย่างจริงจัง เราก็ยินดีจะร่วมงาน ด้วยความที่เรามีเป้าหมายเดียวกันในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม
นอกจากออกแบบ ผลิต และติดตั้งแล้ว เมื่อก่อนเรารับเก็บงานหลังงานจบให้ด้วย เราก็จะมีของกลับมาใช้ซ้ำได้อีก เช่น พวกหมุดกระดาษ แต่ตอนนี้พื้นที่สตูดิโอของเราเริ่มไม่มีที่เก็บของแล้ว เราก็จะแนะนำวิธีการใช้และเก็บรักษางานกระดาษให้กับลูกค้า ให้ข้อเท็จจริงว่ามันจะยังอยู่ได้อีกนาน และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการผลิตงานใหม่ด้วย เน้นให้เขาเก็บรักษาเพื่อให้เขานำมาใช้ใหม่ หรืออย่างน้อยที่สุดถ้าจะทิ้งก็ให้นำไปสู่การรีไซเคิล”

เจอปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง แล้วรับมือยังไง?
“เนื่องจากเป็นงานโปรดักชัน ที่เราเป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของงาน การออกแบบ การผลิต และการขนส่งติดตั้ง ปัญหาที่เจอส่วนมากเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่เราจะต้องมีแผน 2 แผน 3 รอไว้อยู่ตลอด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดการที่พลาดไม่ได้ เพราะมันจะส่งผลถึงชื่อเสียงและผลงานของเรา เวลาทำงานเลยต้องมีแผนสำรอง เช่น ถ้าผู้ผลิตเจ้านี้ผลิตงานให้ไม่ทัน เราก็ต้องมีอีกเจ้าที่เราสามารถเรียกได้เลย เพราะถ้าเสี่ยงกับความไม่แน่นอน ความเสียหายมันจะเยอะกว่า เราว่างานนี้เป็นอาชีพที่มีความเครียดสูงมากเลย ต้องรับแรงกดดันให้ได้
ปัญหาอันนี้ก็ต้องใช้ สติ บวกด้วยปัญญา ถ้ามี 2 อย่างนี้เราก็จะควบคุมสถานการณ์ได้”
ยกตัวอย่างการใช้สติและปัญญาเพื่อแก้ปัญหาหน่อยได้ไหม?
“ได้ อย่างแต่ก่อนเป็นคนอารมณ์ร้อนมาก ถ้าไม่ชอบอะไรคือไม่เอาเลย แต่เดี๋ยวนี้ก็จะให้โอกาสก่อน ลองดูก่อน
งานที่ทำอยู่ตอนนี้ก็เป็นงานที่ต้องแก้ปัญหา ถ้าอันไหนเรายังแก้ไม่ได้ เราก็จะเก็บเอาไว้ก่อน ไม่ใช่การลืมปัญหาแต่จะค่อยๆ นึกทบทวนและหาวิธีแก้ไขมันเรื่อยๆ พอใจเรานิ่ง พอมีสติ มันจะทำให้เราเห็นทางออกได้มากขึ้น รู้ว่าจะต้องทำยังไง เราเลยมีแฮชแทค #โมโหด้วยปัญญา (หัวเราะ) ต้องมีสติ ไม่วู่วามตอนที่เจอปัญหา ถ้าเรารู้ว่าเราโกรธ เราก็ใช้ความโกรธนั้นมาเป็นพลังงานในการแก้ปัญหา เป็นวิธีควบคุมความโกรธด้วย เพียงแต่เราต้องมีสติ ปัญญาก็จะตามมา”

จุดยืนของโมโหสตูดิโอคืออะไร?
“จุดยืนในตอนแรกเลยก็คือ เราจะใช้วัสดุกระดาษให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตอนหลังเราได้ใช้เทคนิคกระบวนการของการทำงานกระดาษไปทำบนงานผ้าและงานใบตองที่เป็นวัสดุทางเลือกที่ย่อยสลายได้ง่ายด้วย ด้วยความที่เราเข้าใจวัสดุ และเราได้เรียนรู้สัจธรรมจากการทำงานกระดาษ ทำให้เราเข้าใจเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เราทำงานออกแบบและงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด คือไม่ใช่แค่งานเสร็จ แต่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชุมชน และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างเช่น เราเห็นว่าป้าๆ ในชุมชนพับกระดาษเก่ง เลยชวนให้พับโอริกามิ ปรากฏว่าพับได้สวยเลย เราก็ส่งงานของโมโหสตูดิโอไปให้ กลายเป็นว่า ชุมชนได้ช่วยผลิตงานของโมโหสตูดิโอด้วย
อีกเรื่องก็คือคนที่เป็นผู้จัดงานหรือหน่วยงานที่จะมาทำงานร่วมกัน เขาจะต้องแคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนอยู่แล้ว มีอยู่ในตัวเขามีอยู่ในนโยบาย เพราะถ้าเขาไม่มีเรื่องนี้อยู่เลยแล้วมาหาเราเพื่อสร้างให้มันมี มันเป็นเรื่องยากกว่าการที่เขามีอยู่แล้วมาสื่อสารร่วมกัน ก่อนหน้านี้เคยตัดสินใจปฏิเสธบางหน่วยงานไป ยอมรับว่าก็ตื่นเต้นมากเหมือนกันนะ แต่พอปฎิเสธแล้วรู้สึกโล่งใจมากเลย”
จากวันแรกที่เปิดกับตอนนี้ โมโหสตูดิโอไปถึงเป้าหมายหรือยัง?
“โมโหสตูดิโอเกิดขึ้นเพราะเราอยากจะแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในวงการ exhibition เราว่าตอนนี้เดินทางมากว่า 50% เกินครึ่งทางแล้ว เพราะเรามีจุดยืนที่ชัดเจน มีวิธีการที่ลงลึกในรายละเอียด ได้เข้าถึงลูกค้าหลายกลุ่ม ได้ถูกมองเห็น และได้นำเสนอตนเองอย่างมีจุดยืน”

ขอคำแนะนำสำหรับวงการ exhibition หน่อย ว่าเขาควรจะทำยังไงที่จะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้?
“ในวง ecosystem ของการทำ exhibition มีคนหลากหลายนะ ตั้งแต่เจ้าของงาน, ผู้จัดการ, นักออกแบบ, ผู้รับเหมา จริงๆ แล้วทุกคนมีส่วนช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้หมด เพียงแค่ว่าจะทำหรือเปล่าแค่นั้นเอง ถ้าเราเลือกในทางที่ง่าย แต่ว่าความง่ายมันไปสร้างปัญหากับโลก กับสิ่งแวดล้อม กับชีวิตของคนรอบข้าง เราอาจจะต้องคิดใหม่หาทางใหม่ เช่น การเลือกเปลี่ยนวัสดุบางชนิดที่จะสามารถลดผลกระทบได้หลายอย่างเลย
สำหรับเราเองกับการทำตรงนี้มาเกือบ 10 ปี เราเห็นปัญหา เรารู้ว่าควรจะแก้ไขยังไง แต่การจะเอาความคิดของเราไปส่งต่อโดยใช้เวลาวันสองวัน มันคงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่โมโหสตูดิโอทำก็คือ การสร้างความตระหนักให้คนได้รับรู้เกี่ยวกับการออกแบบที่ดี การเลือกใช้วัสดุที่ดี เพราะว่าการออกแบบเป็นต้นน้ำของงาน exhibition เราเป็นคนเลือกขยะพวกนี้ขึ้นมา เราต้องมีความตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันจะเป็นปัญหาในอนาคต อยากให้ค่อยๆ ปรับตัวครับ คิดถึงสิ่งรอบข้างให้มากกว่าตัวเอง เป็นจุดที่จะทำให้ทุกคนค่อยๆ เข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้”
ในวันนี้ยังมีบูธที่ใช้โฟมอยู่ไหม?
“ยังมีโฟมบอร์ดให้เห็นอยู่ โฟมมันเป็นวัสดุที่หาง่าย ทุกร้านมีขายหมด มีอยู่ครั้งหนึ่งในงาน exhibition มีป้ายขนาดประมาณ 5 เมตรตกลงมา เพราะมันเป็นไม้ ทางคนจัดก็เลยแก้ปัญหาโดยการใช้โฟมบอร์ดมาติด คือเขาเองก็พยายามแก้ปัญหาแต่เขาไม่ได้ตระหนักว่าโฟมจะไปสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง เรามองว่าจริงๆ กระดาษก็แก้ได้นะ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่บอกว่าการออกแบบคือต้นน้ำ”
นอกจากออกแบบงานกระดาษ โมโหสตูดิโอได้ทำอะไรในเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง?
“เราทำงานที่เรียกว่าเป็น ‘ปากเสียงแทนธรรมชาติ’ นอกจากกระดาษที่เป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติอยู่แล้ว เราก็พยายามสื่อสารแทนธรรมชาติด้วย เช่น การจัดแสดงงานเพื่อสื่อสารถึงเสือที่โดนยิง หรือสื่อสารเกี่ยวกับตัววอลรัสที่ถูกฆ่า เราสื่อสารในนามศิลปินถึงสิ่งที่เกิดขึ้นต่อสัตว์และสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกผ่านวัสดุกระดาษให้คนได้เข้าใจ อย่างตอนงานวอลรัส เป็นโปรเจคชื่อ ‘Unseen’ เราจัดแสดงให้วอลรัสดูสวยงามใหญ่โต แต่จากบางมุมเราจะมองไม่เห็น เปรียบกับการไม่เห็นถึงการมีอยู่ของวอลรัส และตอนท้ายเราก็แยกชิ้นส่วนของวอลรัส สะท้อนการที่วอลรัสถูกปืนยิง ให้คนได้รู้สึกร่วมกับคนในสวีเดนที่ผูกพันกับวอลรัส โปรเจ็คนั้นก็ได้เสียงตอบรับที่ดีนะ มีคนที่รู้สึกกับการหายไปของวอลรัส เป็นตัวอย่างของการให้งานกระดาษสื่อสารในประเด็นนี้”

ตูนมองว่าตนเองเป็นนวัตกรผู้แก้ปัญหาเพื่อสิ่งแวดล้อมไหม?
“ที่ผ่านมาเวลาแนะนำตัวเอง จะบอกว่าเป็น ‘นักออกแบบงานกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อม’ ครับ (ยิ้ม)
ถ้าถามว่าเป็นนวัตกรไหม ก็คงเป็นแล้วล่ะ (หัวเราะ) นวัตกร คือ การนำความรู้มาพัฒนากับปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ถ้าเราแค่นำเอาวัตถุดิบหรือกระบวนการบางอย่างมาทำอะไร มันอาจจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ว่าคำว่านวัตรกรรมเนี่ย มันต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย แนวคิดการทำงานของเราตอนนี้ไม่ได้มีแค่กระดาษแล้ว แต่มันคือการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมในภาพรวม สโคปของสิ่งที่ทำมันกว้างขึ้น เรามีประสบการณ์จากการทำงานกระดาษมาหลายปี ตอนนี้เราสามารถแนะนำได้แล้วว่าการเลือกวัสดุที่ไม่ทำลายธรรมชาติควรจะเป็นอย่างไร
เราว่าสิ่งที่ทำอยู่มันเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของการออกแบบ อย่างเรื่อง green design, circular design เมื่อก่อนไม่มีคนสนใจเลย แต่ตอนนี้มันเป็นพื้นฐานของการดีไซน์ละ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักออกแบบด้านไหน คุณต้องรู้จักและระมัดระวังเรื่อง life cycle ของวัสดุที่จะออกแบบด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามหรือการใช้งานอย่างเดียว แต่ต้องดีต่อโลกของเราด้วยครับ”

นอกจากตั้งใจทำงานในฐานะ ‘นักออกแบบงานกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อม’ ของ โมโหสตูดิโอ คุณตูน หรือ พี่ตูน ยังได้แง้มให้เราฟังว่าขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบมาตรฐานสำหรับการจัดงานแสดง (Exhibition) ร่วมกับองค์กรพาร์ทเนอร์ เป็นการสร้างเครื่องมือที่จะสามารถช่วยชี้วัดหรือประเมินการลดการปลดปล่อย carbon footprint จากงานนิทรรศการได้ เพื่อสร้างความร่วมมือในแวดวงคนทำงาน exhibition และเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกของเราให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ต่อไปค่ะ ?
*ติดตาม/ร่วมงานกับ MOHo Studio ได้ที่ https://www.facebook.com/MOHostu