‘HIPPO’ ที่เราจะมาพูดถึงกันวันนี้ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแสนน่ารักจากทวีปแอฟริกา แต่หมายถึงสาเหตุที่พบเห็นได้ในตั้งแต่ระบบนิเวศขนาดเล็กตามสวนหลังบ้านของเรา ไปจนถึงระบบนิเวศขนาดใหญ่ตามผืนป่าและท้องทะเลโลก เมื่อเกิดข้อใดข้อหนึ่งใน H-I-P-P-O ขึ้น ทำให้เกิดการสูญหายของสัตว์แต่ละสายพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบถึงความหลากหลายทางชีวภาพ
HIPPO เป็นอักษรย่อของคำ 4 คำ คือ Habitat Loss (การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย), Invasive Species (พันธุ์ต่างถิ่นรุกราน), Pollution (มลพิษ), Human Population (ประชากรมนุษย์), และ Over-harvesting (การเก็บเกี่ยว/ใช้ทรัพยากรที่มากเกินไป)
Habitat Loss: การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ต่อโลกรองลงมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การสูญเสียดังกล่าวมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ อาทิ การพัฒนาเมือง (การสร้างบ้าน, ธุรกิจ, ถนน) การค้นหาและขุดเจาะแร่ธาตุ (การทำเหมือง, น้ำมัน) และการเกษตร ซึ่งล้วนทำลายถิ่นฐานที่สัตว์หลายสายพันธุ์ใช้เป็นแหล่งอาหารและที่หลบภัย นอกจากนี้ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยยังอาจมีสาเหตุเหล่านี้ด้วย
การถางป่าเพื่อทำเกษตร ยกตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดจากลักษณะของป่าแอมะซอนที่สูญเสียป่าไปเป็นหย่อม หากมองจากมุมสูง ป่าจะมีรูปร่างคล้ายก้างปลา การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเหลือเป็นหย่อมๆ เช่นนี้ เรียกว่า การแตกกระจายของถิ่นที่อยู่ (Habitat Fragmentation)
แสง สี เสียง ในเวลากลางคืน ทำให้เกิดการสูญเสียถิ่นฐานทางธรรมชาติของสัตว์ เช่น นก ปลา แมลง เนื่องจากแสง สี เสียง ที่ผิดไปจากธรรมชาติทำลายที่อยู่อาศัยของพวกมันโดยเฉพาะแสงจากไฟ LED ที่เลียนแบบคลื่นแสงในตอนกลางวัน ไม่เพียงสัตว์เท่านั้น พืชก็ไม่สามารถหายใจภายใต้แสง LED ได้ นอกจากนี้เสียงดังรบกวนจากอุตสาหกรรมและประทัดหรือพลุยังเปลี่ยนแปลงสภาวะอยู่อาศัยและเวลานอนหลับของสัตว์ป่าด้วย
การเคลื่อนย้ายและทำลายต้นพืชหรือซากพืชซึ่งมีอยู่เดิมตามแนวชายฝั่ง เนื่องจากเป็นการทำลายที่อยู่ของปลา และเป็นการทำลายเกาะกำบังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ และแมลง
กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แม้แต่ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น พายุ ไฟป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่มีเปลี่ยนแปลงหรือทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ยังไม่สามารถเทียบเคียงความรุนแรงและความเสียหายที่ก่อโดยมนุษย์ได้
Invasive Species: พันธุ์ต่างถิ่นรุกราน
พันธุ์ต่างถิ่น หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เจ้าถิ่นและก่อให้เกิดความเสียหายต่อสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่เดิม พันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติเดิม ทำให้สภาวะนั้นไม่เหมาะกับพันธุ์พื้นเมืองอีกต่อไป เช่น การแก่งแย่งอาหาร แสงแดด หรือการมาอยู่รวมกันมากๆ ทำให้เจ้าถิ่นเดิมออกไป เช่น หอยม้าลายที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยไม่มีผู้ล่ามาควบคุม และอาศัยอยู่ในถิ่นจนสัตว์ในถิ่นเดิมต้องไปหากินที่อื่น
อีกตัวอย่าง คือ งูต้นไม้สีน้ำตาลในเกาะกวม ซึ่งมีถิ่นอาศัยพื้นเมืองอยู่ในออสเตรเลีย แต่บังเอิญโดยสารมาเกาะกวมพร้อมเรือขนส่งสินค้าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 งูต้นไม้สีน้ำตาลขยายพันธุ์หลายเท่าบนเกาะอย่างรวดเร็วเนื่องจากไม่มีนักล่าตามธรรมชาติมาควบคุมจำนวนประชากร งูทำลายล้างการมีอยู่ประชากรเจ้าถิ่น และล่าเหยื่อมากทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของนกในเขตพื้นนั้น (Extirpation)
Pollution: มลพิษ
มลพิษพบเห็นได้ทั้งในอากาศ น้ำ รวมไปถึงมลพิษที่เป็นของแข็ง
มลพิษที่เป็นอากาศ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน
มลพิษที่เกิดจากกากของแข็ง เช่น พลาสติก ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย อาจไปติดในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ
มลพิษที่เป็นของเหลว เกิดจากการไหลของสารพิษจากอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมลงสู่ธรรมชาติ และในบางครั้งสารธรรมชาติอาจกลายเป็นสารพิษได้ถ้าหากมีความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่หนึ่งมากเกินไป เช่น ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสจากแปลงเกษตรอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (algal blooms) ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
มลพิษเหล่านี้เป็นพิษต่อสัตว์ และยังเกิดการสะสมของสารเคมีในสิ่งมีชีวิต (Bioaccumulation) สารพิษที่ตกค้างยาวนานหรือที่เรียกว่า สาร POPs สามารถเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิตได้ง่ายดาย ทำให้สารพิษดังกล่าวเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ถูกส่งต่อจากสัตว์ในระดับต่ำที่สุดของห่วงโซ่มายังปลาและมายังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Human Population: ประชากรมนุษย์
ปี 1800 มีประชากรโลกน้อยกว่า 1 พันล้านคน ขณะที่ในปีนี้ 2022 ประชากรโลกมีมากกว่า 8 พันล้านคน การที่ประชากรเพิ่มขึ้นโดยไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิมและไม่มีทรัพยากรเพิ่มขึ้นตาม เป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียถิ่นที่อยู่ ปัญหามลพิษ และการใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดจนใกล้เคียงความวิกฤต
Over-harvesting: การเก็บเกี่ยว/ใช้ทรัพยากรที่มากเกินไป
มาจากการดึงใช้ทรัพยากรที่เกินพอดี โดยที่การเก็บเกี่ยวหรือถลุงใช้ดังกล่าวอาจเป็นการเอาจากต้นไม้ พืช สัตว์ เพื่อนำมาใช้เป็นอาหาร เช่น นกพิราบสื่อสาร ที่ถูกมนุษย์ล่าเสียจนปัจจุบันสูญพันธุ์ไป
การพัฒนาเทคโนโลยีหลังสงครามโลก ทำให้เกิดการประมงพาณิชย์ (Ocean Fisheries) มากจนเกินไป มีการพัฒนา ตู้เย็น โซนาร์ แหใหญ่สำหรับหาปลา และเทคโนโลยีการเก็บรักษาปลา มีการจับปลาค็อดมาก ส่งผลให้ให้จำนวนผู้ล่าในระบบลดลง และทำให้ปลาเหยื่อตัวเล็กๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น ปลาเฮอร์ริง ปลาไข่ และกุ้ง
ทั่วทุกมุมโลกมีภัยคุกคามทางธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน
ผักตบชวาซึ่งเป็นที่คุ้นตาของคนริมน้ำก็เป็นพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน โดยความจริงมีต้นกำเนิดอยู่ในลุ่มน้ำแอมะซอน แต่ถูกนำเข้ามาสู่น่านน้ำไทยเนื่องจากดอกมีความสวยงาม ผักตบชวาเป็นพืชต่างถิ่นซึ่งไม่มีศัตรูทางธรรมชาติอย่างแมลงหรือโรค ทำให้แพร่ขยายจำนวนอย่างรวดเร็ว ผักตบชวากลายเป็นวัชพืชที่มีปัญหา ทั้งกีดขวางทางน้ำ และบดบังแสงแดดไม่ให้ส่องลงไปในน้ำ ทำให้จำนวนพืชน้ำและแพลงก์ตอนพืชลดลง ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียตามมา
การปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อทำบุญ เป็นสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด และปฏิบัติต่อกันมา ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล สามารถเป็นพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานได้ ยกตัวอย่างปลาดุกบิ๊กอุยและปลาซัคเกอร์ ซึ่งพบได้ในแม่น้ำโขง ปลาซัคเกอร์ แต่เดิมถูกนำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม แต่เมื่อหลุดลอดออกไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติ ปลาซัคเกอร์ทนต่อสภาพแวดล้อมและมีพฤติกรรม ‘กินแหลก’ ไม่เป็นผลดีต่อระบบนิเวศ เช่นเดียวกับปลาดุกบิ๊กอุยที่เป็นลูกผสมระหว่างปลาดุกพันธุ์พื้นเมืองไทยกับพันธุ์แอฟริกา ลูกครึ่งเวอร์ชันที่โตไว กินเก่ง สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเดิมของไทย
การทำความรู้จักสาเหตุการถูกรุกรานของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ทำให้เราแยกประเภทสาเหตุและหาวิธีแก้ไขได้อย่างถูกจุด หวังว่าข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกคนที่ใส่ใจและอยากแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบธรรมชาติของบ้านเราค่ะ
อ้างอิง
Threats to Biodiversity https://www.e-education.psu.edu/geog30/node/394
Hippo-the Greatest Threat to Biodiversity by TLB https://www.thelandbetween.ca/…/hippo-the-greatest…/
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน หายนะจากต่างแดน โดย จักรพันธุ์ กังวาฬ https://www.sarakadee.com/feature/2002/01/alien_species.htm
‘ทำบุญบูชาโทษ ปล่อยสัตว์ได้บาป’ เมื่อการให้ชีวิตอาจเป็นการตัดอายุขัยและทำลายระบบนิเวศ? https://thematter.co/science-tech/ploi-sud-dai-barb/18336