วันนี้ทาง Environhack เลยมาแชร์ข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการคำนวณ Carbon Credit จากพี่ต้า Trekking Thai บริษัทจัดจำหน่ายอุปกรณ์แคมปิ้งและให้บริการท่องเที่ยวแคมป์ปิ้ง-เดินป่า ผู้ผูกพันกับสิ่งแวดล้อม และทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อการรักษาและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมมาตลอด 25 ปี
น้องๆ Hacker จาก Climathon อาจคุ้นเคยกับพี่ต้ามาบ้างแล้ว เพราะพี่ต้าได้มาร่วมเป็น mentor ให้กับงาน Climathon เมื่อวันที่ 28-30 ตุลาคมที่ผ่านมาด้วย
Carbon Credit คืออะไร
ชดเชยได้อย่างไร
การใช้ไฟฟ้า การโดยสารรถ ทุกการเคลื่อนไหวและการกระทำของมนุษย์ตั้งแต่การขยับตัวเล็กๆ ไปจนถึงการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาทั้งสิ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นนี้ คือ Carbon Footprint เมื่อการปล่อยคาร์บอนนั้นเกิดขึ้นมาแล้ว เราจึงไปหาทางชดเชยรอยเท้าคาร์บอยที่เราสร้าง ด้วย Carbon Credit ผ่านกระบวนการต่างๆ
กระบวนการชดเชย Carbon Credit ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองง่ายๆ คือ การลดหรือการกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ ได้แก่ การปลูกต้นไม้ หรืออาจจะเป็นวิธีที่มักพบเห็นในบริษัทใหญ่ เช่น การฟื้นฟูป่า หรือการรักษาป่าชายเลนไม่ให้ถูกทำลาย นอกจากนี้ ยังมีการชดเชย Carbon Credit อื่นๆ ที่คาดว่าจะให้ประสิทธิภาพสูงในอนาคต เช่น การใช้ถ่านชีวภาพ (Biochar) ปรับปรุงดิน นอกจากนี้ยังมีตลาดการซื้อขาย Carbon Credit ที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มการเติบโตมากยิ่งขึ้น
หากเป็นเมื่อก่อน การคำนวน Carbon Footprint อาจเป็นเรื่องยุ่งยาก มีต้นทุนสูง และอาจไม่คุ้มค่า แต่ว่าในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยเราสามารถคำนวนเองได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ให้บริการในประเทศไทย อาทิ แอพลิเคชัน CF event (Carbon Footprint Event Calculator) ซึ่งจัดทำโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ((อบก.)
หลังคำนวณค่า Carbon Footprint ของกิจกรรมของเรา ผ่าน CF event แล้ว ทางผู้จัดงานก็สามารถเข้าไปเลือกติดต่อโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน/รับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตในเว็บไซต์ GHG reduction (https://ghgreduction.tgo.or.th/th/t-ver.html) และติดต่อผู้พัฒนาโครงการเพื่อซื้อ-ขาย Carbon Credit ได้เลย
งาน Climathon ที่ผ่านมามีความเป็นกลางทางคาร์บอน (neutral carbon event) อย่างไร
การจัดงานอีเวนต์อย่างคำนึงถึงการสร้าง Carbon Footprint เช่น การจัดงานประชุม สัมมนา งานแต่งงาน ไปจนถึงการทำบุญบ้าน ผู้จัดงานต้องพยายามทำให้งานเหล่านี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนมากที่สุด
เบื้องต้นคือเราต้องคำนวณปริมาณ Carbon Footprint ที่จะเกิดขึ้นจริงตลอดกระบวนการจัดงานก่อน และพยายามปรับกิจกรรมให้มีความเป็น Low Carbon ให้ได้มากที่สุด อาทิ ลดการใช้ไฟฟ้าโดยการใช้ห้องประชุมที่มีขนาดเล็กลง, การออกแบบมื้ออาหารให้สามารถรับประทานเป็นมื้อถัดไปได้ เช่น การนำข้าวสวยที่เหลือมาประกอบอาหารเป็นข้าวผัด, หรือการปิดไฟในบริเวณที่ไม่มีคนใช้ เป็นต้น
พี่ต้าได้เน้นย้ำว่า การคำนวนปริมาณคาร์บอนนั้น “คำนวณเกินได้แต่อย่าให้ขาด” โดยหลังการจัดงานต้องมีการประเมินการใช้คาร์บอนตามปริมาณใช้จริงในงาน ในกรณีของ Climathon ที่ผ่านมานั้นพี่ต้าได้ถ่ายรูป จำนวนหลอดไฟ สวิชต์ไฟ เครื่องเสียง และได้นำมาคำนวณ Carbon Footprint แบบอนุมาน ซึ่งถ้าคำนวนเกินแล้วชดเชยเพิ่มก็จะดีต่อโลกของเราด้วย
วิธีการชดเชย Carbon Footprint ที่เกิดจากการจัดงาน Climathon นั้น เมื่อได้คำนวณปริมาณการใช้คาร์บอนผ่าน CF event แล้ว เราใช้วิธีการชดเชยโดยการปลูกต้นไม้ผ่านโครงการ Tree for All (https://taejai.com/th/d/tree-for-all/) สำหรับปริมาณต้นไม้ที่ต้องปลูกทดแทนนั้น เราคิดผ่านแนวทางการคำนวณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ซึ่งจัดทำโดย T-Ver ประเมินออกมาได้เป็นจำนวน 30 ต้น เพราะฉะนั้นหลังงาน Climathon เราจึงได้สนับสนุนการปลูกต้นไม้จำนวนดังกล่าวที่จังหวัดน่าน มีคนในพื้นที่ที่จะช่วยดูแลต้นไม้นี้เป็นเวลา 3 ปี ถูกต้องตามระเบียบวิธีการของ อบก.
ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่า สิ่งที่เราทำเป็นการชดเชย Carbon Footprint ที่เราสร้าง ผ่านการจ่าย Carbon Credit เพราะฉะนั้น การปลูกต้นไม้ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มันจบไป สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณไม้ที่ปลูกด้วย ไม่ควรปลูกโดยไม่ดูบริบท เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยวในบริเวณป่าชายเลน และต้องทำด้วยความเอาใจใส่ทั้งกระบวนการ ซึ่งข้อผิดพลาดส่วนใหญ่ คือการปลูกโดยไม่มีคนดูแล ทำให้มีอัตราการรอดต่ำ
การชดเชย Carbon Credit เป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่อย่างไร ผู้จัดงานและพวกเราทุกคนก็ต้องพยายามทำให้งานอีเวนต์ใดๆ เป็น Net Zero Carbon Emission ตั้งแต่แรกกันด้วย
และด้วยวิธีการทั้งหมดที่ว่ามานี้ งาน Climathon ที่จัดขึ้นในวันที่ 28-30 ตุลาคม 2565 และกิจกรรมทุก Hack ของ EnvironHack จากนี้ จึงเป็นงานที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนนั่นเอง
ขอบคุณพี่ต้าที่แบ่งปันข้อมูลความรู้ และช่วยสนับสนุนการชดเชยคาร์บอนเครดิตในครั้งนี้ค่ะ



ศึกษาเรื่องการจัดงานอีเวนต์อย่างมีค่า Carbon Footprint เป็นกลาง > neutral carbon: http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/
น้องคนรุ่นใหม่ อายุ 18-35 ปี คนไหนที่สนใจมาร่วมกิจกรรมของ EnvironHack ติดตามข่าวสารได้ทางเพจ EnvironHack และ https://environhack.com/
หรือกดจากตรงนี้เพื่อกรอกใบสมัครได้เลยค่ะ
☞ Koh Hack (Phuket) 25 – 27 พฤศจิกายน 2565 https://bit.ly/environhack-koh
☞ River Hack (Nong Khai) 9 – 11 ธันวาคม 2565 https://bit.ly/environhack-river
☞ Air Hack (Lam Pang) 13 – 15 มกราคม 2566 https://bit.ly/environhack-air