แนะนำตัวเองหน่อย เป็นใครมาจากไหน
ชื่อบอส ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้าน climate change ครับ ผมเกิดและโตที่กรุงเทพ แต่ตอนนี้อยู่เชียงใหม่มาเกือบ 2 ปีแล้ว
ทำงานร่วมกับทางราชการหรือคะ?
ตอนนี้เป็นงานเอกชนเยอะแล้ว แต่ก่อนนี้จะมีราชการด้วย เป็นเมืองทั้งหลาย ลูกค้าหลักก็กระทรวงทรัพย์ พอจะเห็นมุมมองจากฝั่งรัฐว่าเขาอยากได้แบบไหน และตอนนี้เขามีกลยุทธ์ในการทำพวกแคมเปญ climate change แบบไหน
ได้ยินข่าว Climathon จากไหน
ตอนแรกเห็นตั้งแต่ Beach Hack แล้วครับ เพราะว่าสนใจเรื่อง Beach มาก ติดตามเรื่องกำแพงกันคลื่นมาตั้งแต่เขาเริ่มสร้าง ปี 2015-2016 แต่ว่าตอนนั้นไม่ได้สมัครเพราะว่าจริงๆ แล้ว solution สำหรับเรามันง่ายมาก ก็คือทุบกำแพงกันคลื่นทิ้งให้หมดแล้วฟ้องกรมโยธา (แอบหัวเราะ) จริงๆ นะ มันแค่นั้นเลย แล้วก็ใช้วิธี nature-based ในการรักษาแนวเขตชายฝั่งไว้
พอมา Climathon ทำไมถึงได้สนใจเข้าร่วมอันนี้
Climate Change ปีนี้มันเป็นกระแสเยอะ แล้วก็ส่วนตัวทำงานก็จะทำให้ภาคเอกชน ซึ่งที่ทำให้เมืองทั้งหลายก็จะเป็นแผนแนว mitigation คือลดการปล่อยก๊าซเป็นหลัก ส่วนตัวก็ไม่ค่อยอิน เหมือนที่คุณวราวุธเขาพูดว่าประเทศไทยปล่อยไม่ได้เยอะมากแต่ว่าได้รับผลกระทบเยอะ เราแค่รู้สึกว่าคนพูดเรื่อง adaptation หรือการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบน้อย เราก็เลยคิดว่า เออ ทีนี้ เราลองเข้ามาโยนไอเดียนี้ดู ให้คนที่สนใจอยากทำอะไรที่เป็นประเด็นใหม่ๆ บ้างที่ไม่ใช่แค่เรื่องการลด แล้วก็ดูว่าไอเดียมันจะออกมาในแนวไหน ซึ่งพอลองทำแล้วก็ยากกว่าที่คิดอยู่นะ (หัวเราะ)
การพัฒนาไอเดียเรามันติดขัดตรงไหนบ้างเอ่ย
เพราะว่าเรื่อง adaptation เนี่ย การเป็น business model มันค่อนข้างยาก คนจะพูดถึงการ mitigation เยอะเพราะมันไปได้ดีกับระบบการทำธุรกิจอยู่แล้ว มันสามารถเปลี่ยน business model มาเพื่อเป็นอีกวิธีนึงสร้างกำไร สามารถไปกำหนดมูลค่าที่ตกหล่นไปได้ แต่ว่าลองนึกภาพเรื่องการปรับตัวกับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง พูดง่ายๆ คือช่วยคนจนแล้วใครได้ตังค์? มันไม่มี มันก็เลยจะยากกว่า กลายเป็นว่าการที่จะดูแลเรื่องสวัสดิการพื้นฐานมันไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่ภาคเอกชนจะควบคุมได้ จะไปอยู่ในภาครัฐเยอะ คนก็เลยอาจจะไม่ค่อยพูดถึง
เคยเข้าร่วมอะไรอย่างนี้มาก่อนไหม
เคยเข้าร่วมแต่เป็น tech ครับ ตอนนั้นแข่งเชิงวิศวะ ตั้งแต่ปี 3 มาก็นานแล้วครับ (: แสดงว่าเราจบวิศวะแต่สนใจสายสังคมใช่หรือเปล่า?) ใช่ๆ สนใจสายสังคม สิ่งแวดล้อม จริงๆ เราติดตามเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เรียนมหาลัย ก็คืออยู่ชมรมอนุรักษ์ตั้งแต่ปี 1 ก็ทำมาเรื่อยๆ
ก่อนเข้าร่วมและหลังเข้าร่วมโครงการ มีมุมมองต่อการ Hack ครั้งนี้อย่างไรบ้าง
ตอนแรกที่มาเข้า จริงๆ แค่รู้สึกว่าก็น่าจะเจอคนที่หลากหลาย จุดประสงค์ในการมาก็อาจจะหลากหลายด้วย อาจจะมาสร้างโปรไฟล์บ้าง อาจจะไม่ได้อินเรื่อง climate change แต่แค่อยากมาแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง ซึ่งมันก็มีคนแบบนั้นแหละ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว เรารู้สึกว่ามันอยู่ที่โจทย์ ว่าเราโยนโจทย์แล้วคนต้องมีจุดร่วมกันว่าเขาอยากแก้โจทย์นั้นจริงๆ ถึงจะไปได้โอเค ไม่อย่างนั้นรู้สึกว่าถ้าคนไม่ได้มีแพชชันกับโจทย์จริงๆ จะยอมแพ้กลางคัน
คิดว่าโจทย์ Climathon ในครั้งนี้เป็นยังไง
ประเด็นนี้มันค่อนข้างยาก แล้วก็เพราะเรารู้สึกว่าไม่ได้อยากทำ tech solution เท่าไร ก็เลยค่อนข้างยากเพราะมันไม่ใช่นวัตกรรมในเชิงเทคโนโลยีแต่ว่าเป็นนวัตกรรมในเชิงกระบวนการมากกว่า
อย่างในครั้งนี้ โจทย์เราโยนไปที่ adaptation ที่วันแรกไม่มีคนนั่งโต๊ะเราเลย เราก็เลยลองไปพูดแล้วก็มีคนเข้ามาคุยกับเราเรื่องนี้มากขึ้น เราก็ลองพูดไปว่า เออ ทำไมเราต้องทำไอเดียนี้ จริงๆ ก็มีคนสนใจเรื่องของคนกลุ่มเปราะบางเยอะเหมือนกันก็เลยเริ่มจับกลุ่มกันได้ แต่ไปๆ มาๆ พอจะคิดมาตรการที่มันเห็นผลได้เลยจริงๆ มันก็ค่อนข้างยาก
ทีมเราทำไอเดียอะไรเดี๋ยวเล่าให้ฟังหน่อย
ตอนนี้เราพยายามหามาตรการที่จะทำให้คนมีประสบการณ์เกี่ยวกับความร้อนดีขึ้น
เราอาจจะไม่ได้ไปป้องกันที่ตัว extreme heat เต็มๆ แต่ว่าเราพยายามที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต คืออย่างน้อยให้คนในกรุงเทพเห็นว่า เออ จริงๆ เมืองเรามันเย็นขึ้นได้ พอเมืองมันเย็นขึ้นมันมีข้อดีหลายๆ อย่างตามมา มันน่าจะเริ่มจากอะไรอย่างนี้ก่อน ไม่งั้นมันจะดูไกลตัวไป
เราเล็งไปว่าวิถีชีวิตของคนชนชั้นกลางระดับล่าง เป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะ เราไปอ่านงานวิจัยมาว่าคนมีความเครียดจากความร้อนตอนไหนมากที่สุด เป็นตอนที่รู้สึกไม่สบายตัวและเหนื่อยอ่อน ก็จะมีตอนนอนกับเดินทาง หลักๆ 2 อัน ซึ่งตอนนอน ถ้าจะแก้ตอนนอนก็ต้องไปแก้ที่ที่อยู่อาศัยเขา ซึ่งตอนแรกเราจะไปตรงนั้น เพราะกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุดจะเป็นพวกคนชราที่ไม่มีความสามารถในการเดินทาง แต่พอคุยกัน อิมแพคมันแคบ เพราะหนึ่ง ยังไม่มีคนตายจากความร้อนที่รุนแรงในกรุงเทพ สองก็คือ แม้แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงเพราะว่าเขามีปัญหาใหญ่อื่นมากกว่า ทั้งเรื่องปากท้อง เรื่องน้ำท่วม ถ้าเล็งไปที่คนกลุ่มนี้เลยมันค่อนข้างยากเพราะว่ากลุ่มที่เปราะบางจริงๆ อาจจะมีปริมาณน้อยและอาจจะมีวงจำกัด
การระบุกลุ่มเป้าหมายเราก็เลยลองขยับมาเป็นกลุ่มคนที่อาจจะอยู่ในชุมชนเปราะบางเหมือนกัน เป็นกลุ่มบริเวณที่อยู่อาศัยหนาแน่นแต่ว่าเขามีศักยภาพในการเคลื่อนย้ายมากกว่า อาจจะต้องออกมาเดินทางข้างนอก ใช้รถเมล์ร้อน ต้องเดินเยอะ ทำงานในออฟฟิศที่ไม่มีแอร์ เราก็ดูว่าใน 1 วัน ประสบการณ์เขาเป็นยังไง เขาเจอความร้อนตอนไหนบ้าง แล้วค่อยไปเล็งเป้าว่าค่อยไปจัดการกับความร้อนที่เขาน่าจะเจอในช่วงนี้ ซึ่งก็ลงแคบมาอีกคือเรื่องเดินทาง โครงสร้างพื้นฐานที่พอใช้ คือ เรื่องฟุตปาธ หรือเรื่องขนส่งสาธารณะ เราก็เลยมาเล็งตรงนี้ดีกว่า อิมแพคมันจะกว้างกว่าเพราะว่ามันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่นอกจากคนกลุ่มนี้ใช้ คนทั่วไปก็อาจจะประสบบ้าง ได้ใช้บ้าง
พอรู้อย่างนี้แล้ว ทีมเราสามารถทำอะไรกับความร้อนได้
ตอนนี้คิดแบ่งเป็น 2 อย่างว่า เราอยากมีนวัตกรรม 2 ส่วน
หนึ่ง คือ มาตรการใช้ลดความร้อน อาจจะเป็นทางเท้าหรือป้ายรถเมล์ ที่เขาใช้ชีวิตในการเดินทางเยอะที่สุดก็จะเป็นบริเวณนี้ ส่วนตัวเราคิดว่ารถเมล์มันจะเริ่มเปลี่ยนแล้วเพราะว่ามีพวกนโยบายเปลี่ยนเป็นรถเมล์ฟ้าปรับอากาศเริ่มมาแล้ว ภายในปีสองปีนี้น่าจะเปลี่ยนไปเยอะ ทีนี้ทางเท้าก็เลยมองเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่คนระดับล่างใช้เยอะ ทั้งเดินทั้งถีบจักรยาน เพราะฉะนั้นจะทำยังไงให้ทางเท้ามันเย็นลง กลายเป็นว่าตอนนี้ เหมือนว่า solution เราที่เสนอมันค่อนข้างเรียบง่ายแล้ว แต่ว่ามันเป็น life of logic ที่มาเรื่อยๆ
ที่นี้เราก็ลองคิดว่า จะทำยังไงให้ทางเท้าเย็นลงก็คือมีนวัตกรรมในเชิงเทคนิค ทำให้มันเย็นลง กับอย่างที่สองคือเราต้องมีนวัตกรรมในเชิงกระบวนการด้วย เพราะทางเท้าเป็น pain point ที่ประสบมาตลอด แล้วก็รู้สึกว่ามันยังไม่มีกระบวนการไหนที่สามารถแทรกแซงออกไปเพื่อทำให้ทางเท้ามันดีขึ้น ทีมเราก็เลยพยายามจะเอาสองอันนี้เสนอนวัตกรรมเข้าไปทั้ง 2 อัน เพื่อให้มันครบวงจร
คิดว่าเราจะต่อยอดอะไรจากการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ได้บ้าง
จริงๆ เราอยากไปทำอะไรที่เชียงใหม่เพราะว่าอยู่เชียงใหม่ แล้วตอนนี้ที่เชียงใหม่ก็มีกลุ่มภาคประชาสังคมที่พยายามจะพัฒนาเส้นทางแหล่งเมืองเก่าให้เหมาะกับการเดินและการปั่นของคนในชุมชนเอง เป็นเส้นนำร่อง ก็จะเอาประสบการณ์ตรงนี้ไป แต่มันก็อาจจะมีบริบทที่ต่างกัน
งาน Hack หน้า ในซีรีส์ สนใจงานไหนอยู่บ้างหรือเปล่า
Air Hack น่าสนใจเพราะอยู่ใกล้ จริงๆ เรื่องฝุ่นก็เป็นความเจ็บปวดของคนเชียงใหม่ในฤดูแล้งเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ก็สนใจนะ เราก็พอมีข้อมูลเรื่องฝุ่นค่อนข้างเยอะเหมือนกัน
สุดท้ายนี้ อยากให้เราฝากบอกอะไรให้ไหม
จุดประสงค์ที่เรามาก็เพราะเราอยากแทรกซึมความคิดเรื่องการปรับตัวเข้าไปในบทสนทนาของวง climate change เพราะว่าเหมือนกับวง climate change บ้านเราพูดถึงแต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ว่าส่วนตัวสิ่งที่สำคัญคือการลดผลกระทบ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง เพราะว่าทุกคนไม่ได้มีส่วนเท่ากันในการทำให้เกิด climate change แต่ว่าคนแรกๆ ที่จะโดนผลกระทบก่อนคือคนกลุ่มเปราะบาง ก็เลยอยากให้คนในวงสนทนาในประเทศไทยพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น