‘เนย’ และ ‘กอล์ฟ’ คู่หูชวนกันมาแฮก

แชร์โพสต์นี้
Facebook
Twitter
Email
จบไปแล้วกับ Climathon BKK พร้อมกับเริ่มต้นซีรีย์ EnvironHack ในโจทย์ใหม่ครั้งต่อไปที่เราจะไป Hack ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันถึงจังหวัดภูเก็ต เกาะแห่งการท่องเที่ยว ใครที่พร้อมสมัครอย่ารอช้า ส่วนใครที่กำลังตัดสินใจอยู่เรามีประสบการณ์จากเหล่า Hacker ที่ร่วมงานกับเรามาแชร์กันค่ะ

ส่วนของงาน Climathon ที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมานั้น เราได้พบเจอกับเหล่า Hacker ที่หลากหลายทั้งวัย ประสบการณ์ และความสามารถ นัดเก็บตกบรรยากาศงาน Hackathon ข้ามคืนที่จัดขึ้น ณ Swissôtel Bangkok และ C-asean Ratchada ในครั้งนี้ เราจึงขอเชิญน้อง ‘เนย’ และ ‘กอล์ฟ’ เพื่อนชาว ม.ปลายของงาน Climathon มาบอกเล่าบรรยากาศของโครงการในครั้งที่ผ่านมากันค่ะ ?

เนย: หนูชื่อบงกช กิติศรีปัญญาค่ะ ชื่อเล่นชื่อเนย ตอนนี้หนูเรียนอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายวิทย์-คณิตค่ะ

กอล์ฟ: ผมชื่อกอล์ฟนะครับ ธนกร หงษรานนท์ เป็นเด็กนักเรียน ม.6 ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย English Program วิทย์-คณิตครับ

เอาล่ะ ได้ยินข่าว Climathon มาจากไหนกันบ้างคะ

เนย: หนูได้ยินข่าว Climathon จากเพื่อนหนู คุณแม่ แล้วก็เห็นผ่านๆ ในเฟสบุ๊คค่ะ ครั้งนี้ก็มีเพื่อนมาด้วย หนูก็ติดเข้ามา สมัคร 4 คน แล้วติดหนูกับเพื่อนอีกคนนึง (กอล์ฟ) เป็นเด็ก ม.6 เหมือนกันอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบค่ะ ข่าวงาน Climathon ก็ทราบมาจากกอล์ฟคนแรก ที่อยากมาทำเพราะหนูว่าหนูมีไอเดีย แต่หนูไม่ได้มีความรู้และไม่ได้มีคนช่วย

กอล์ฟ: เอาจริงๆ ตอนนั้นผมไปไถเฟสเพื่อนผมเล่นแล้วเจอครับ เลยสนใจ ผมลองไปดูคร่าวๆ อายุผมก็ถึง เขารับ ม.ปลาย ด้วย แล้ว Hackathon ก็เป็นเหมือนงานใหญ่และเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมก็ว่า เออ มันน่าสนใจนะ แล้วผมก็ไม่คิดว่าผมจะติด แล้วบังเอิญว่าติดด้วย

ก่อนมาเข้าร่วมเรามีประเด็นปัญหาที่สนใจเป็นพิเศษหรือเปล่า

เนย: ตอนแรกหนูก็คิดมาหลายหัวข้อเลย แต่หนูรู้สึกว่ามีอันนึงที่ปิ๊งขึ้นมา (เรื่องการกำจัดไขมันในขยะเศษอาหารด้วยจุลินทรีย์) คือเห็นอาจารย์ชัชชาติ ซึ่งเป็นศิษย์เตรียมเก่า เคยเจออาจารย์รอบนึงตอนหนูเป็นครูอาสา แล้วไปนั่งดูผลงานคิดว่าเรื่องนี้ก็น่าสนใจนะ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ต่างประเทศก็คิดกันแล้ว แต่เมืองไทยเพิ่งจะมาเห็นจากตรงนี้ หนูก็เลยคิดว่า เราพอจะมี solution ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ไหม

กอล์ฟ: ผมคิดว่าปัญหาเรื่องขยะจะเป็นปัญหาที่ผมสามารถแก้ไขได้มากที่สุด อย่างปัญหาเรื่องน้ำ ผมไม่เคยศึกษาในเรื่องนี้มาก่อน แต่เรื่องขยะมันเป็นสิ่งที่เราต้องเห็นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว มันมีวิธีแก้เยอะ และมันก็อาจจะเป็นเรื่องเดียวที่ผมสามารถช่วยได้

กลุ่มของเราทำไอเดียอะไรอยู่เอ่ย

เนย: กลุ่มของหนูจะเป็นไอเดียเรื่องการ tracking ควันดำในกรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นรถเมล์และบริการขนส่งสาธารณะ หน้าที่ของหนูจะเป็นการ research หา definition และความรู้จำพวกชีววิทยาทั้งหลาย เช่นว่า ควันดำมีผลยังไง แก๊สนี้มีผลยังไง เพราะว่าหนูจะถนัดชีวะและพวก lab micro

กอล์ฟ: ตอนนี้ทีมผมทำเรื่องของเส้นทางการเดินทางของรถเก็บขยะ โดยปกติแล้วรถเก็บขยะจะวิ่งโดยไปเก็บหน้าบ้าน และระยะเวลาที่รถขยะผ่านจะสร้างตัวคาร์บอนทุกๆ ครั้งที่หยุด พอพวกผมสังเกตปัญหาแล้วผมก็เลยคิดว่า ถ้าเกิดว่าเราตั้งจุดเชื่อมต่อขึ้นมา ให้ทุกๆ คนไปทิ้งขยะตรงจุดนี้ รถก็จะไม่ต้องวิ่งไปเก็บทุกๆ บ้าน แต่วิ่งไปเก็บในจุดที่ขยะเขาทิ้งไว้ แล้วจากที่ศึกษามา รถที่ขับไปยาวๆ กับรถที่ขับหยุด รถที่ขับไปยาวๆ เหมือนจะสร้างคาร์บอนน้อยกว่า เลยจะสร้างจุด drop off เพื่อลดเวลาในการเก็บขยะด้วย แล้วก็เป็นการเปลี่ยนมายด์เซตของคนที่เวลาออกมาทิ้งขยะก็ไม่ต้องทิ้งหน้าบ้านอย่างเดียวด้วย

บรรยากาศการแฮกครั้งนี้เป็นยังไงบ้าง

เนย: ตอนแรกหนูคิดว่ามันจะเคร่งเครียดมากกว่านี้ แต่ว่าบรรยากาศมันก็ผ่อนคลายกว่าที่เราคิดเมื่อเทียบกับหลายๆ อย่างที่หนูเคยเจอมา ถึงแม้ว่าเราจะได้ร่วมทำงานกลุ่มกับพี่ๆ ที่ถนัดกันคนละอย่างกับเราเลย แต่เราก็มีส่วนที่จะช่วยเขาได้ด้วยบางสกิลของเราที่มีอยู่

กอล์ฟ: ในช่วงฟอร์มทีมก็เครียดๆ หน่อย เพราะไม่รู้ว่าจะมีใครเอาผมที่เป็นเด็ก ม.6 หรือเปล่า แต่พอฟอร์มทีมได้ก็มีปรับจูนกันนิดหน่อย แต่หลังจากสเต็ปนั้นแล้วผมว่าก็สนุกดีครับ

รู้จักคอนเซปต์ Hackathon หรือเคยเข้าโครงการประเภทนี้มาก่อนไหม

เนย: ไม่เคยค่ะ นี่ครั้งแรกเลย แต่หนูก็คิดแล้วว่าถ้าเป็นพี่มหาลัยก็น่าจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ เพราะว่าเรียนเจาะลึกไปแล้ว แต่อย่างพวกหนูเด็ก ม.6 ก็แบบ ม.6 เลย มันไม่ใช่เชิงไม่มั่นใจนะคะ แต่แบบ เราไม่ได้มีความรู้ในการช่วยเขา ซึ่งถึงแม้หนูอาจจะถนัดในด้านนี้ลึกลงไปนิดนึงมากกว่าเด็กคนอื่น แต่ก็ไม่ได้ลึกเท่าคนที่เรียนเฉพาะจริงๆ ค่ะ

กอล์ฟ: ผมเคยรู้จัก Hackathon จากแค่ตอนดูหนังครับ (แต่ยังไม่เคยเข้าร่วมนะ)

สามารถบอกจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองออกมาได้ไหม

เนย: หนูพร้อมที่จะเรียนรู้และช่วยตลอดขอแค่บอกมาได้ก็จะพยายามถามให้รู้ จุดอ่อนก็คงจะเป็น ถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้เลย

กอล์ฟ: อืม จุดแข็งเหรอ ผมว่าผมเป็นคนที่ฮาๆ หน่อย ไม่เครียด แล้วก็ผมเป็นคนที่ให้งานอะไรมาผมจะทำได้ เพราะผมจะทำให้เสร็จให้ได้ แล้วก็ผมคิดว่าผมเป็นคนที่เวลาทำงานกลุ่มจะเป็นคนตรงๆ เพราะเวลาพูดอ้อมค้อมผมว่างานจะไม่เดิน จุดอ่อน ผมว่าผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใครมากเท่าไหร่ ชอบอยู่คนเดียว พอมาอยู่กลุ่มใหม่ผมก็จะไม่เฉิดฉายเท่าตอนที่อยู่กลุ่มเพื่อน

กอล์ฟ: กับทีมตอนนี้ ผมช่วยพยายามเก็บดีเทลเล็กๆ ช่วยพี่เขา research หาข้อมูลด้วยส่วนหนึ่ง เพราะว่าตามจริงโปรเจกต์ผมก็ค่อนข้างไปทางเขียนโปรแกรมหน่อย ผมก็อยู่ในขั้นที่กำลังศึกษา เรียนเขียนอยู่แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เขียนได้เลย ก็ต้องรับบทเป็นเหมือนฝ่ายสนับสนุนที่ช่วยพี่เขา

หลังจากงานนี้เราคิดจะต่อยอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้มายังไง

เนย: หนูพยายามจะหาประสบการณ์ พยายามดูการพูด ดูเทคนิคการพูดการพรีเซนต์ หนูก็คิดจะเอาไปใช้ตอน Conference ตอนทำ Lab Research

กอล์ฟ: ง่ายๆ ไอเดียขยะก็อาจจะเอาไปใช้ในระดับครัวเรือนได้ ที่บ้านเอง แล้วผมว่าตอนที่ผมมีความรู้มากกว่านี้ พอผมมีความรู้แน่นแบบพี่ๆ เขาบ้าง ผมก็อาจจะมาเข้าร่วมงานนี้อีกทีก็ได้ ผมว่างาน Hackathon ก็เป็นงานที่สนุกอย่างนึงสำหรับคนชอบคิดชอบแก้ปัญหา

ขอบคุณน้องเนยและน้องกอล์ฟ ตัวแทนน้อง ม.ปลาย ที่มาช่วยแชร์ประสบการณ์ในงาน Hackathon กับเราในครั้งนี้ สุดท้ายนี้ทางน้องๆ มีอะไรอยากจะฝากบอกเพื่อนๆ ที่สนใจมาร่วมประสบการณ์ Hack แบบนี้บ้างไหมคะ

เนย: สำหรับหนูนะคะ มีคนอีกเยอะเลยที่มีไอเดียดีๆ เพราะหนูก็ไปนั่งฟังไอเดียคนอื่นเยอะ แล้วรู้สึกว่า ถึงแม้ไอเดียของเราจะเล็กมาก หรือมีบางส่วนที่เป็นไปไม่ได้หรือมีปัญหา ถ้าลองเสนอไอเดียมาและใช้ไอเดียของอีกคนนึงมาช่วยขัดช่วยเกลาจนใช้ได้ มันก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้เยอะเลยค่ะ

กอล์ฟ: ผมสนับสนุนให้พวกเด็ก ม.ปลาย อย่างผมลองมาเปิดหูเปิดตาที่ Hackathon สักครั้งหนึ่ง อย่างเช่น พวกคนที่อยากลงเรียนวิศวกรรม บัญชี เกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ ผมว่าการที่ได้มางานนี้ มันจะช่วยเปิดหูเปิดตา ทำให้เรารู้ว่า โลกจริงๆ ที่เราจะเจอในอนาคตนั้น มันมีโอกาสไหนบ้างที่เราสามารถทำธุรกิจได้

ข่าวสาร/บทความล่าสุด

ติดตามพวกเราได้ที่