EnvironHack ขอส่งต่อไอเดียดีๆ จากพี่นิต้า กับ 3 ขั้นตอนการทิ้งขยะเศษอาหาร เพื่อการนำไปใช้ต่อยอดได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
วิธีง่ายๆ นั้นประกอบไปด้วยคำ 3 คำ “กรอง เท กลบ”
หนึ่ง กรอง ― กรองเศษอาหารให้เหลือแต่ส่วนแห้ง
สอง เท ― เทเศษอาหารที่กรองแล้วลงถังหมัก
สาม กลบ ― กลบเศษอาหารด้วยวัสดุหมักตั้งต้น
เวลาหมักก็ให้ทำตามขั้นตอนดังกล่าวสลับไปทีละชั้น หลักการนี้เป็นการหมักแบบใช้อากาศ โดยจะมีการเว้นพื้นที่ด้านล่างของถังหมักเอาไว้เพื่อป้องกันสภาวะอัดอากาศที่จะทำให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้น ซึ่งการนำขยะเศษอาหารที่ทิ้งแล้วมาหมักเป็นปุ๋ยเช่นนี้ ย่อมดีกว่าการที่อาหารไปจบลงที่บ่อฝังกลบ เนื่องจากก๊าซมีเทนจะส่งผลให้ขยะอาหารเน่า มีกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังสร้างก๊าซเรือนกระจกที่อันตรายยิ่งกว่าการหมักแบบใช้อากาศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างเดียว
การมีถังหมักเช่นนี้ก็เหมือนกับการมีระบบหมุนเวียนในครัวเรือน เวลาที่ทานอาหารเหลือก็นำเศษอาหารมาหมักต่อ ได้เป็นปุ๋ย ใช้ปลูกผัก แล้วก็นำผักกลับมารับประทานในครัวเรือน นอกจากนี้ยังเป็นการลดขยะอื่นๆ ไปโดยปริยายด้วยเพราะพอแยกขยะอาหารออกมาแล้วขยะอื่นๆ ก็สะอาด
พี่นิต้าเล่าให้เราฟังว่า ผักDone ต้องการให้ทุกบ้านและทุกหน่วยงานองค์กรมีการจัดการขยะที่ทำได้จริงและยั่งยืน เป้าหมายใหญ่คืออยากให้คนเมืองและสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างเกื้อกูลกันได้
“เรารู้สึกว่าคนเมืองมีความต้องการจะช่วยโลก แต่เขาเข้าไม่ถึงข้อมูลและไม่รู้ว่าจะต้องจัดการยังไง แล้วก็ไม่มีอุปกรณ์ที่จะเอื้อวิถีของเมือง ช่วงที่เราทำผักDone รู้สึกว่าคนวิ่งเข้าหาเราเยอะมาก เขาหา solution ในการจัดการขยะเศษอาหารอยู่นานมากแต่หาไม่ได้”
“ผักDone ก็เลยอยากเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมโยงตรงนั้น และพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คนเมืองและสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่อย่างเกื้อกูลกันได้ง่ายๆ ตัวถังหมักเศษอาหารก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่เราใช้เชื่อมโยง พอคนคัดแยกขยะออกมาแล้ว และเห็นการเปลี่ยนแปลงจากเศษอาหารที่มีกลิ่นเน่าเหม็นกลายมาเป็นดินดำๆ เขาก็จะเกิดประสบการณ์ที่รู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกว้าว ว่าเราสามารถเปลี่ยนเศษอาหารที่มีกลิ่นเหม็นให้กลายเป็นดินดำๆ และสามารถนำไปใส่ต้นไม้ให้งอกงามได้ดี”
“เรามีแพชชันเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ตอนนั้นเราไม่ได้มีแพชชันเกี่ยวกับขยะเลย แต่พอได้มาสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับขยะก็รู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำเรื่องขยะ มันก็จะส่งผลกระทบต่ออาหารด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าเรานำอาหารไปฝังบ่อกลบหมด มันก็ตัดวงจร วนต่อไปไม่ได้ แล้วจะเอาสารที่ไหนมาบำรุงดินให้ดี”
พี่นิต้าฝากทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
“การจัดการขยะเศษอาหาร เป็นเรื่องง่ายและด้วยความบ้านเราเป็นเขตร้อนชื้นก็เอื้อต่อการหมักแบบนี้มาก สามารถใช้ระบบธรรมชาติจัดการได้เลย เราอยากจะชวนคนมาเริ่มจากการจัดการขยะเศษอาหารก่อนเพราะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทุกครัวเรือน พอเราแยกเศษอาหารมาแล้ว ขยะอื่นๆ ก็จะง่ายขึ้น สะอาดขึ้น และเราก็ค่อยจัดการขยะอื่นๆ ต่อไป”
ฟังพี่นิต้าแล้วมีแรงฮึกเหิมอยากมีส่วนจัดการขยะอาหารในบ้านและที่ทำงานให้ไม่หมักหมมเน่าเหม็นและกลายเป็นดินบ้าง ใครที่สนใจข้อมูลหรืออุปกรณ์ช่วยเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นดิน ติดต่อพี่นิต้าได้โดยตรงที่เพจ ผักDone ได้เลยนะคะ
