มองภาพปัญหาขยะเมืองใหญ่ ต้องจัดการอย่างไรจึงจะเห็นผล?

แชร์โพสต์นี้
Facebook
Twitter
Email
EnvironHack ขอเชิญชวนทุกคนมามองภาพปัญหาขยะในเมืองใหญ่ พร้อมมองหาแนวคิดการจัดการปัญหากับ อาจารย์สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการขยะต้นทางของกรุงเทพมหานคร

ภาพรถขยะสีเขียวที่ตามเก็บขยะจากบ้านเรือนคงเป็นภาพที่คุ้นตาชาวกรุงเทพมหานครกันเป็นอย่างดี และยิ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ทางกรุงเทพมหานครมีแคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ ก็ยิ่งต้องทำให้เราต้องมาหวนนึกถึงพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนเมืองที่ผ่านๆ มาว่าเป็นอย่างไรและได้ส่งผลกระทบอะไรต่อโลกใบนี้บ้าง

?ขยะกับปัญหา Climate Change และ Global Warming
ปัญหา climate change หรือภาวะโลกร้อน หรือภาวะโลกรวน เกิดจากกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหมด ทุกอย่างที่เราขยับร่างกาย ทุกอย่างที่เราเคลื่อนไหว จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทต่างๆ ซึ่งหากกล่าวถึงการจัดการขยะ พวกเรามักจะมองไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานที่กำจัดขยะ (Landfill) ซึ่งถ้าจัดการไม่ดีจะมีการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่งที่มีศักยภาพทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกิจกรรมอื่นๆ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มาจากบ่อขยะก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า ซึ่งจะมีประมาณ 3-5% เพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกมาจากพลังงานการใช้ไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ตามมาด้วยจากการเกษตร การขนส่ง การตัดไม้ทำลายป่า ก๊าซที่มาจากของเสียจึงคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า แต่ว่าเราก็ไม่สามารถจะละเลยการจัดการของเสียได้ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกับเราทุกคนและจะมีเรื่องปัญหาอื่นตามมา เช่น ทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอ ขยะพลาสติกย่อยสลายได้ยากที่จะกลายเป็นไมโครพลาสติก

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมากถ้าเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาในระดับเดียวกัน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีประชากรจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย จะเป็นตัวหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ต่างกันกับของไทยก็คือนโยบาย มาตรการ ที่ภาครัฐพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเข้มข้นมากกว่าประเทศเราที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

การประกาศว่าประเทศจะเป็น Net Zero ในปี 2050 ของไทยเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะว่าเรายังไม่มีนโยบายหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จริงจัง ที่ผ่านมาจะเน้นภาคสมัครใจเป็นหลัก ซึ่งทำให้การดำเนินงานในเรื่องนี้ยังน้อยและไม่เข้มข้นเท่าประเทศพัฒนาแล้วที่มีกฎหมาย มีการเก็บภาษี รวมถึงมีการควบคุมภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไม่ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น

?ขยะอาหาร (food waste) โจทย์ที่น่าสนใจอันดับ 1 ของกรุงเทพมหานคร
ขยะจะแยกเป็น 2 ก้อนใหญ่ หนึ่งคือขยะอุตสาหกรรม เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมและดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือการนิคมอุตสาหกรรม อีกก้อนหนึ่งคือขยะมูลฝอยชุมชนซึ่งเป็นขยะทุกอย่างที่ไม่ได้เกิดในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคของเรา และกว่า 50% เป็นขยะอาหาร (food waste)

เพราะฉะนั้น ตัวที่เป็นปัญหามากที่สุด ก็คือขยะอาหาร ซึ่งจะสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนด้วย เพราะขยะอาหารถ้าไม่มีการแยกออกมาจากขยะอื่น ทิ้งปะปนไป สุดท้ายกรุงเทพมหานครหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอาไปทิ้งที่บ่อขยะแล้วจัดการไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดภาวะไร้อากาศเกิดเป็นก๊าซมีเทนขึ้น

“ปัญหานี้เกิดการที่ต้นทางของขยะไม่ได้มีการลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะ”

?ถ้าเทียบระหว่างครัวเรือนกับอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมน่าจะทำให้เกิด food waste มากกว่าหรือเปล่า?
ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้นำ food waste จากโรงงานหนึ่งมาเป็นวัตถุดิบของอีกโรงงานหนึ่ง เป็นการใช้ประโยชน์จากของเสียในนิคมอุตสาหกรรมด้วยกันหรือจะข้ามนิคมก็ได้ แม้จะมีโรงงานเยอะแต่ถ้าเราสร้างระบบการจัดการที่สามารถหาปลายทางให้ขยะได้ก็จะเป็นเรื่องง่าย จำนวนโรงงานมีน้อยกว่าครัวเรือน ในขณะที่ครัวเรือนเป็นรายเล็กรายย่อยแต่ว่าเวลามารวมกันก็จะเป็นจำนวนที่มาก

ส่วนที่เรากังวลที่ไม่ใช่โรงงานแต่คือส่วนที่เป็นร้านอาหาร ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า ฟู้ดคอร์ท ซึ่งจะมี food waste ออกมาค่อนข้างเยอะมาก และปลายทางของ food waste ที่ออกมายังไม่ค่อยมีมูลค่า ไม่เหมือนขยะรีไซเคิลที่สามารถขายได้ให้กับร้านขายของเก่าหรือซาเล้ง แต่ food waste มันไม่มีใครต้องการ ปลายทางมูลค่าจึงต่ำมากๆ พวกเกษตรกรอาจมารับเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ แต่ถ้าเราจะนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น แปลงเป็นก๊าซชีวภาพ (biogas) ก็ต้องมีการลงทุนทางเทคโนโลยีอีก ซึ่งก็จะมีปัญหาเพราะขาดความต่อเนื่องด้านกำลังคนที่มีความรู้

ปลายทางของ food waste อีกส่วนหนึ่งอาจนำไปทำปุ๋ยหมัก แต่เราคนเมืองพื้นที่จำกัด ไม่ได้มีการปลูกต้นไม้เยอะ การทำปุ๋ยหมักจึงยังไม่ค่อยจูงใจให้คนเมืองแยกเศษอาหารมาจัดการที่ต้นทางมากนัก

สุดท้ายปลายทางก็เลยไปอยู่ที่กรุงเทพมหานครที่ต้องหาวิธีจัดการ ปัจจุบันแม้ที่สถานีขนถ่ายอ่อนนุชจะมีโรงงานทำปุ๋ยหมักจากขยะมูลฝอย (compost) แต่หากต้นทางไม่ได้ถูกกำหนดกฎกติกาชัดเจนว่าต้องแยกเศษอาหารก็จะทำให้มีการปนเปื้อนของขยะพลาสติกเยอะมาก ทำให้ทางกรุงเทพมหานครต้องมีแคมเปญ “ไม่เทรวม” ให้ประชาชนแยกเศษอาหารออกจากขยะอื่น อย่างน้อยก็พอให้สามารถได้จัดการต่อได้

“ถ้าเราช่วยกันตั้งแต่ต้นทางก็จะได้ของที่ไม่ปนเปื้อน แห้ง สะอาด กลางทางและปลายทางจะสามารถจัดการได้ง่าย และมันก็จะลดภาระของทุกคน”


?ถ้าอย่างนั้นก็จะไปอยู่ที่จุดเดิมคือกฎหมายยังไม่เข้มแข็ง?
กฎหมายเป็นส่วนสำคัญ แต่ว่ามันมีหลายปัจจัยควบคู่กันไป ถ้าเราเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป เยอรมัน ที่สามารถแยกขยะได้ดี นั่นเพราะเขามีกฎหมายเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคม (social norm) กำหนดกฎกติกาใหม่เป็นหน้าที่พลเมืองที่ต้องลดการสร้างขยะและแยกขยะ เทียบได้กับบรรทัดฐานทางสังคมที่ไปเข้าแถวต่อลิฟต์ ถ้าไม่เข้าแถวก็จะเป็นแกะดำ แต่หากเป็นเรื่องแยกขยะ ตอนนี้บ้านไหนไม่แยกขยะเราก็ยังรู้สึกเฉยๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่แยกขยะกัน แต่ถ้าทำเป็นกฎหมาย กฎกติกาของสังคมและทุกคนรู้ว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ก็จะไปถึงจุดที่ว่าบ้านไหนไม่แยกขยะจะถูกประณาม เป็นเหมือนการใช้แรงกดดันทางสังคม

หากกรุงเทพมหานครบังคับใช้กฎหมายเหมือนต่างประเทศก็จะมีการลงโทษ เช่น การปรับ หรือการไม่เก็บขยะจากบ้านที่ไม่ทำการคัดแยก เป็นมาตรการทางกฎหมายที่บังคับให้คนเข้ามาทำตามกฎกติกาใหม่ทางสังคม เพียงแต่ตอนนี้กฎหมายและท้องถิ่นไม่สามารถทำให้เกิดการบังคับใช้ได้เหมือนต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นหน้าที่ที่ท้องถิ่นต้องผลักดันอยู่ แต่ต้องควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกด้วย ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เขาทำได้เองโดยมีสำนึก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

รัฐต้องมีการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐาน เก็บขยะแบบแยกประเภท นัดวันทิ้ง นัดวันเก็บ เช่น วันจันทร์ทิ้งขยะประเภทนี้ ท้องถิ่นก็จะมาเก็บเฉพาะขยะประเภทนี้ ถ้าเราทิ้งมั่วหรือวางขยะประเภทอื่นผิดวัน เขาก็จะไม่เก็บและแปะป้ายว่าคุณทิ้งผิดวัน ถ้าไปยุโรปก็จะเข้มหน่อยเป็นการตักเตือน แต่ถ้าทำผิดซ้ำซากก็จะต้องเสียค่าปรับในอัตราสูง การมีกฎหมาย มีระบบเก็บขยะแบบแยกประเภทรองรับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันแยกขยะตามระบบที่วางไว้

?แผนปลูกฝังจิตสำนึกโดย Zero Waste School
โรงเรียนปลอดขยะได้รับการส่งเสริมจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แนวคิดคือ ทำให้โรงเรียนมีการจัดการขยะที่ต้นทางตามหลักการ 3R – Reduce, Reuse, Recycle โรงเรียนต้องมีแผนในการลดการสร้างขยะในโรงเรียน หรือถ้าหากมีขยะเกิดขึ้นแล้วก็จัดให้มีการคัดแยกขยะ ส่งต่อวัสดุให้ร้านรีไซเคิล ร้านของเก่า ภาคเอกชน ส่วนขยะเศษอาหารก็ส่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์หรือทำโรงปุ๋ยหมัก ส่วนขยะอันตรายหรือขยะทั่วไปก็ส่งให้กรุงเทพมหานครเอาไปจัดการต่ออย่างถูกต้อง

Zero Waste School จะเป็นแนวทางในการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องผลกระทบของขยะที่ไม่ใช่แค่อ่านตามหนังสือหรือตามตำรา แต่ครูจะต้องพาเด็กไปสัมผัสปัญหาจริง เช่น การลงพื้นที่เก็บขยะรอบโรงเรียนหรือในชุมชน ไปดูบ่อขยะ สร้างจิตสำนึกที่ทำทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน พอเด็กเริ่มตระหนักแล้ว ครูต้องฝึกให้เขาปฏิบัติ ต้องมีการวางถังขยะแยกประเภท ดูแลติดตั้งตู้กดน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ และให้นักเรียนทุกคนพกกระติกหรือขวดมาเติมน้ำเพื่อจะได้ไม่ต้องไปซื้อน้ำขวดพลาสติกซึ่งสร้างขยะมหาศาล

การปลูกฝังจิตสำนึกจะเชื่อมโยงไปยังผู้ปกครองที่บ้านด้วย ถ้าโรงเรียนสามารถทำไปได้ถึงธนาคารขยะหรือตลาดนัดขยะรีไซเคิลก็จะสามารถฝึกให้เด็กๆ เข้าใจได้ว่าขยะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป แต่ขยะคือวัสดุ เป็นของมีค่า สามารถสะสมแต้มและแลกเงินได้ มันก็จะช่วยให้เด็กเป็นสะพานเชื่อมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะสอนให้ที่บ้านเริ่มคัดแยกขยะด้วย

?หลัก EPR – หัวใจสำคัญของการลดขยะที่ต้นทาง
อีกส่วนหนึ่งที่ต่างประเทศมี คือ การใช้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR: Extended Producer Responsibility)

หลัก EPR ถือกำเนิดขึ้นที่สวีเดนมา 30 กว่าปีแล้ว และถูกนำมาใช้เป็นหลักการในการเขียนกฎหมายจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของเยอรมันเป็นประเทศแรก มาจากความตระหนักที่ว่าขยะมีหลากหลายประเภท ท้องถิ่นเป็นผู้แบกรับภาระทั้งหมดไม่ไหว โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีสารอันตราย ผู้ผลิตจะรู้ดีที่สุดว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีสารเคมีใดเป็นส่วนประกอบ และทางท้องถิ่นเองก็ไม่มีปลายทางที่จะไปรองรับการรีไซเคิลได้ทุกอย่าง หลัก EPR เลยเสนอว่า ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในประเทศจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์หลังการบริโภคด้วย

หลัก EPR จะกำหนดหน้าที่ของผู้ผลิตตั้งแต่การออกแบบการผลิตเลยว่าคุณต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ว่าสามารถรีไซเคิลได้หรือไม่ และให้มีการจัดระบบเก็บกลับคืนมารีไซเคิลด้วย หลายประเทศที่มีกลไก EPR เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี ผู้ผลิตจะจัดตั้งองค์กรตัวแทนผู้ผลิต และตั้งจุดดร็อปออฟ (drop-off) เช่น มีการตั้งจุดคืนขวดและบางประเทศจะมีระบบที่จำเพาะลงไปอีก คือ ระบบมัดจำคืนเงิน (deposit-refund system) ที่ลูกค้าจะจ่ายเงินมัดจำตอนที่ซื้อสินค้าใหม่ เช่น ซื้อน้ำขวด 10 บาทบวกค่ามัดจำไปอีก 1 บาท ขวดนั้นจากเดิมที่ไม่มีมูลค่าก็จะมีมูลค่าขึ้นมาทันที จูงใจให้ประชาชนที่บริโภคเสร็จแล้วสนใจคืนขวด โดยนำไปคืนที่ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือที่ตู้คืนขวด (Reverse vending machine) และจะได้เงินมัดจำคืนกลับมา

ระบบเงินมัดจำคืนเงินใช้ได้ผลมากๆ ในประเทศที่มีการบังคับใช้กฏหมาย โดยพบว่ามีอัตราการรวบรวมมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำมากกว่า 80% แต่ประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายมารองรับระบบ EPR หรือเรื่องมัดจำคืนเงินตรงส่วนนี้

?มาตรการทางกฎหมาย – เครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
โมเดลต่างประเทศ มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น กรณีถุงพลาสติก ตอนนี้ ประเทศญี่ปุ่นมีข้อบังคับห้ามร้านสะดวกซื้อแจกถุงพลาสติกฟรี แต่ต้องเก็บเงิน 3-5 เยนต่อใบ ในขณะที่บ้านเราจะมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

กรณีของประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายที่ควบคุมขยะส่วนเกินโดยเน้นควบคุมซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีการสั่งห้ามซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ทิ้งอาหารเหลือ ผัก ผลไม้ เบเกอรี่ต่างๆ หรือของที่ใกล้หมดอายุ แต่ต้องบริจาคให้กับองค์กรสาธารณกุศล ทำให้เกิดการส่งต่ออาหารที่ยังทานได้ให้กับผู้ที่ขาดแคลน และกฎหมายจะมีการคุ้มครองผู้บริจาคด้วย เช่น ถ้าบริจาคแล้วผู้รับเกิดท้องเสีย ผู้บริจาคไม่ต้องรับผิดชอบ แต่บ้านเรายังไม่มีกฎหมายในลักษณะนั้น ทำให้พวกแบรนด์กลัวเรื่องภาพลักษณ์ หรือผลกระทบทางลบจากการบริจาค เขาก็เลยจะไม่กล้าบริจาค

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยเราต้องมีกฎหมายและมาตรการจูงใจให้ภาคธุรกิจ ซุปเปอร์มาร์เก็ตมีการบริจาคอาหารเพิ่มมากขึ้น สำหรับไทยตอนนี้จะมีองค์กรกลางที่เรียกว่า SOS – Scholar of Sustenance ซึ่งเป็นตัวกลางที่ไปรับอาหารส่วนเกินตามซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ร้านอาหาร ไปส่งต่อให้กับผู้ยากไร้ ชุมชนที่ขาดแคลน เป้าหมายที่กรุงเทพมหานครต้องทำ คือ เก็บกู้อาหารส่วนเกินให้มากกว่าเดิมที่ SOS ทำอยู่ แล้วก็จัดการ food waste ใช้ประโยชน์จากเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักและปลูกผัก สร้างความมั่นคงทางอาหาร หรือจะไปในแนวทางของการทำ Zero Waste Park ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่มีการรับเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักและนำไปใช้ปลูกต้นไม้ในสวน

เราพยายามจะให้ไปถึงจุดที่กรุงเทพมหานครสามารถพัฒนาจุดแยกขยะแล้วก็ส่งต่อขยะหรือวัสดุประเภทต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และพอประชาชนเห็นปลายทางของขยะที่มีการใช้ประโยชน์ก็จะกระตุ้นให้เขาแยกขยะมากขึ้น ‘พยายามลบวลีที่ว่า “แยกไปก็เทรวมกันอยู่ดี’ ทั้งที่ความจริงพนักงานเก็บขยะพยายามแยกขยะที่ขายได้ออกมาท้ายรถอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่สามารถมาแยก ณ จุดที่รับขยะมาจากบ้านเรือนได้ทันที

กรุงเทพมหานครทราบถึงจุดอ่อนตรงนี้ จึงพยายามสื่อสารกับประชาชนว่าไม่เทรวมแล้วนะ เป็นความท้าทายของทางกทม.ที่ต้องเปลี่ยนชุดความคิดฝั่งครัวเรือนหรือฝั่งประชาชนให้มีการแยกขยะ ในขณะที่ระบบเก็บขยะก็ต้องมีการปรับหลายส่วน มีเรื่องของข้อบัญญัติท้องถิ่นที่จะต้องกำหนดให้ประชาชนคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การเพิ่มค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะ เพราะถ้าไม่มีการให้บริการจัดเก็บขยะที่ดีขึ้นใครจะอยากจ่าย ต้องปรับระบบให้ทั่วถึง ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ง่ายที่สุด คือ ตารางวันเก็บขยะชิ้นใหญ่ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแยกขยะอันตราย ขยะรีไซเคิล ขยะส่งเผา ขยะกำพร้า เจ้าหน้าที่ที่มาในชุมชนก็อำนวยความสะดวกในการส่งคืน ความสะดวกจะช่วยคนที่ไม่มีใจให้มีส่วนร่วมได้มากขึ้น

?แรงจูงใจสร้างได้จากไหน
การที่เรามีซาเล้งก็เป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งให้แยกขยะออกมา กรุงเทพมหานครต้องทำแพลทฟอร์มให้ร้านรับซื้อของเก่าและซาเล้งเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดต่างๆ มากขึ้น แล้วคอนโดหรือบ้านจัดสรร ก็ต้องยอมให้ซาเล้งสามารถเข้าถึงได้ด้วย จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ยกระดับซาเล้ง เราต้องทำงานร่วมกับสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้องของเก่า ขึ้นทะเบียนซาเล้ง ร้านของเก่า และรถเร่ในแต่ละเขต ให้ใส่เสื้อกั๊กติดหมายเลข สามารถติดตามได้ว่าไปไหน จะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น

หากมีระบบ reward จูงใจ ก็ต้องสร้างจิตสำนึกด้วย เราไม่สามารถอัดฉีดได้ตลอดเวลา

มีตัวอย่างของระบบ reward model ที่น่าจะใช้การได้ แต่ต้องมีความร่วมมือกับซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ คือ “Recycle Day” จะมีแอพลิเคชันเชื่อมต่อกับพื้นที่ห้าง ตั้งช็อปรับขยะเล็กๆ เช่น ขยะรีไซเคิล ขยะพลาสติกเดลิเวอรี่ ขยะพลาสติกกำพร้าที่ขายไม่ได้ รวมถึงกล่องนม ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางมายังจุดเดียว และสะสมแต้มที่สามารถแปลงไปเป็นเงินหรือส่วนลดซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าก็ได้ อาจารย์ต้องการให้มีการขยายโมเดลนี้ไปทุกห้าง เพราะประเทศเราห้างสรรพสินค้าเยอะมาก แถบชานเมืองก็มีคอมมูนิตี้มอลล์ด้วย เรามีศักยภาพมากๆ

แล้วโมเดล Recycle Day จะไปเชื่อมโยงกับผู้เล่นเดิมในพื้นที่ อย่างรถเร่หรือร้านรับซื้อของเก่า ไม่ได้ผูกขาด ไม่ต้องกลัวกระทบ แต่ระบบนี้จะไปเปิดพื้นที่ใหม่ให้บ้านที่ไม่เคยแยกขยะให้มีการแยกขยะมากขึ้น เป็นระบบที่ช่วยเหลือกัน ไม่ได้กันใครออกไปจากวงจร และยิ่งถ้าเรามีระบบ EPR ก็จะยิ่งสนับสนุนให้ผู้ที่ทำหน้าที่เก็บขยะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

?Business Model การเปลี่ยน Product เป็น Service
✅ ร้านให้บริการเครื่องซักผ้า ที่เราไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องซักผ้าที่เวลาเสียก็ปวดหัวกำจัดยังไง ทางร้านก็ต้องมีการดูแลรักษาเครื่องให้ใช้ได้นาน หรือถ้าเสีย ทางร้านก็ส่งซ่อม
✅เครื่องถ่ายเอกสาร จ่ายต่อเดือนตามจำนวนหน้าเอกสารที่ถ่ายสำเนา สำนักงานไม่ต้องซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร แต่จ่ายเป็นค่าบริการแทน
✅การเช่าเสื้อผ้า เนื่องจากการผลิตเสื้อผ้ามีการใช้ทรัพยากรและสารเคมีมาก รีไซเคิลยาก ยิ่งซื้อมากยิ่งสูญเสียทรัพยากร มีโมเดลธุรกิจให้เช่าชุดราตรีไปออกงาน ไม่ต้องซื้อชุดใหม่ทุกครั้งที่ไปงาน
✅ระบบร้านรีฟิล เช่น รีฟิลน้ำยาซักผ้า น้ำยาอาบน้ำ ที่หากมีการติดตั้งตามคอนโด อพาร์ทเมนต์ จะสะดวกสบายกว่าการติดตั้งตามห้างสรรพสินค้า พอใช้หมดก็สามารถลงไปกดใหม่ได้เลย
✅แอพลิเคชัน Go box สำหรับสั่งอาหารออนไลน์ส่งให้ผู้บริโภคที่ subscribe และจัดให้มีการนำส่งกลับมาใช้ใหม่

ข่าวสาร/บทความล่าสุด

ติดตามพวกเราได้ที่