ปัญหาการจัดการน้ำที่ระยองทั้ง 3 แบบ
หนึ่ง น้ำดิบหรือน้ำดี ซึ่งมีไม่เพียงพอสำหรับการทำอุตสาหกรรม ปัญหาขาดแคลนน้ำดิบเกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณแหล่งกักเก็บน้ำในระยองซึ่งมีไม่เพียงพอ ทำให้แม้ฝนจะตกหรือน้ำจะท่วมที่ระยองเหมือนในปัจจุบัน แต่ทางจังหวัดก็ยังคงขาดแคลนน้ำ ผลที่ตามมาคือ ทางนิคมอุตสาหกรรมต้องลงทุนซื้อน้ำดิบจากโครงการที่จัดสรรน้ำมาจากแหล่งกักเก็บจังหวัดอื่นแทน ทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมสูงขึ้น
สอง น้ำทิ้ง คือน้ำที่ระบายออกจากโรงงานหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมลงสู่อ่าวไทยผ่านท่อน้ำทิ้ง น้ำทิ้งนั้นไม่ใช่น้ำเสีย แต่น้ำทิ้งคือน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เราอาจพบเห็นการทำประมงที่ปลายท่อ เช่น การเลี้ยงหอยแมลงภู่ ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำปนเปื้อนสารพิษได้ แม้น้ำทิ้งนั้นอาจจะผ่านการบำบัดมาในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
สาม น้ำเสีย คือน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วและมีสิ่งปฏิกูลหรือสารไม่พึงประสงค์ปนอยู่ โดยปกติน้ำเสียต้องผ่านการบำบัดก่อนระบายออก แต่เนื่องจากอาจมีบางอุตสาหกรรมที่ต้องการลดต้นทุนการดำเนินการ จึงมีการลักลอบปล่อยออกมาตามเส้นทางน้ำธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่โรงงานที่ปล่อยออกมาไม่ใช่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเอง แต่เป็นโรงงานรอบนอกนิคม ซึ่งโรงงานเหล่านี้อาจไม่มีระบบมาตรฐานเนื่องจากไม่ได้ทำหน้าที่ส่งออกแต่จะเป็นการส่งผลิตภัณฑ์ไปประกอบที่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมแทน
ส่วนปัญหาน้ำมันรั่วที่พบเห็นได้แถบทะเลภาคตะวันออกนั้น มักจะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ผลกระทบที่ตามมามากมายมหาศาล ต้องมีการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนริมชายฝั่ง รวมไปถึงฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล
ขอบคุณข้อมูลจาก ศ. ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์