Environ Fact! สถานการณ์น้ำในเขตอุตสาหกรรมระยอง

แชร์โพสต์นี้
Facebook
Twitter
Email
ระยองเป็นจังหวัดได้รับอิทธิพลมรสุมเกือบตลอดทั้งปีเนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้กับเทือกเขาจันทบุรี ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “ฝนภูเขา” (orographic storm) เกิดจากไอน้ำที่พัดมาจากทะเลอ่าวไทยมาปะทะกับภูเขาที่มีป่า ทำให้อากาศบริเวณนั้นลอยตัวสูงขึ้นแล้วเปลี่ยนเป็นเมฆฝน

? ป่ามีหน้าที่ช่วยชะลอและกักเก็บน้ำ คืนความชุ่มชื้นในพื้นดิน ผุดเป็นสายน้ำแตกแขนงไปตามลำธารคูคลองสู่พื้นที่ลุ่มน้ำ ไหลสู่พื้นที่ป่าชายเลนก่อนสู่อ่าวไทย สายน้ำที่แตกแขนงและอุดมสมบูรณ์นี้หล่อเลี้ยงชีวิต เป็นทรัพยากรประกอบอาชีพ และเป็นฐานเศรษฐกิจของคนในจังหวัดระยองและใกล้เคียง ข้อมูลของปี 2561 จากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบอกว่าจังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงที่สุดในประเทศไทยคือ 1,045,697 ล้านบาท

?ในรายงานสถานการณ์น้ำประเทศไทยประจำปี 2564 ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ประมาณค่าปริมาณฝนด้วยวิธี Inverse Distance Weighting (IDW) โดยใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในภาคตะวันออกมีฝนตกเฉลี่ยทั้งภาค 2,194 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นฝนที่ตกมากกว่าปกติ และมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำที่สามารถใช้ได้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะน้ำคือส่วนสำคัญในระบบอุตสาหกรรมทุกประเภท

? เมื่อปี 2562 ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองมีความเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และถูกจัดให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้มีจำนวนการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม เฉลี่ย 350,000 – 400,00 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำในการเกษตร การใช้น้ำในภาคธุรกิจการบริการ การใช้น้ำในครัวเรือน และในปีเดียวกันภาคตะวันออกเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทำให้มีฝนตกน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี จนประสบวิกฤตการณ์ภัยแล้ง ในเวลานั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ขอความร่วมมือกับภาคธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 เพื่อเป็นการแก้ปัญหาขาดน้ำในระยะสั้น

? ทางออกที่ยั่งยืนของการรับมือภัยแล้งในเขตอุตสาหกรรม คือการส่งเสริมและผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมเกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การบริหารการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียนน้ำใช้โดยการบำบัดน้ำเสียแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ผ่านการบำบัดWWRO (Waste Water Reverse Osmosis) ผ่านระบบกรอง RO ( Reverse Osmosis Membrane ) ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland)

? ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ ในการประเมินติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยแล้งด้วยการบริหารการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ พร้อมกับเร่งฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเน้นบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อภาคธุรกิจและลดผลกระทบต่อภาคประชาชน

ข่าวสาร/บทความล่าสุด

ติดตามพวกเราได้ที่