ภาคตะวันออกกำลังอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาต่อยอดพื้นที่จังหวัดติดชายฝั่งทะเล อันได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เรียกว่า เขตพัฒนาพิเศษตะวันออกหรือ EEC
“EEC เป็นเรื่องใหญ่มาก ในแง่ของการเกิดการดึงขาดทรัพยากร (Resource Grabbing) เมื่อขาดน้ำขาดไฟ เขาต้องไปใช้ทรัพยากรจากของพื้นที่อื่นที่อยู่ใกล้ EEC ด้วย เพราะฉะนั้นปัญหาน้ำจึงเดือดร้อนกันไม่ใช่แค่ 3 จังหวัด”
“เรื่องของปัญหาท้องทะเลก็มีที่ชลบุรีและที่ระยอง คือแหลมฉบังกับมาบตาพุด มีเรื่องของการแย่งชิงน้ำ ทั้งในและนอกเขต EEC มีเรื่องของตัวขยะซึ่งข้อนี้สำคัญมาก การลักลอบทิ้งขยะทางอุตสาหกรรมมันเลยเถิดไปถึงปราจีนบุรีและสระแก้ว และมีบางส่วนโผล่ไปจันทบุรีด้วย”
“ไม่ใช่แค่เพียงอุตสาหกรรมอย่างเดียวที่เพิ่มขึ้น ตามผังเมือง EEC ใหม่ ในช่วงปี 2560-2580 พื้นที่อุตสาหกรรมจะขยายตัวทั้งหมด 66% เพราะฉะนั้นมันจะเดือดร้อนหมดทั้งเรื่องของมลพิษ (Polution), การยื้อแย่งที่ดิน (Land Grabbing), และการยื้อแย่งน้ำ (Water Grabbing) แล้วก็มีเรื่องของเมืองใหม่ด้วย เพราะ EEC พูดเรื่อง Smart City มีการขยายตัวชุมชนใหม่ ประชากรเพิ่มขึ้น 33% โดยมาจากจีนและต่างประเทศ” ดร.สมนึกเสริม
ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงสมควรนำมาขบคิดต่อว่า จะสามารถทำอย่างให้ความเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมีความสมดุลไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมได้
ปัญหาการขาดแคลนน้ำและมลพิษทางน้ำ
ดร.สมนึกเล่าถึงสภาพมลพิษและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างสั้นๆ แต่เห็นภาพ
“Eastern Seaboard เปิดเมืองอย่างเต็มที่ ในขณะที่ฝั่งขวาเป็นมันสำปะหลัง ฝั่งซ้ายเป็นโรงงานบำบัดน้ำเสีย มีของเสีย เช่น ถ่านหิน ยิปซัม ที่โรงงานยกให้ชาวบ้านฟรีๆ มาปลูกมันสำปะหลัง เมื่อก่อนต้องเอาไปทิ้ง แต่โรงงานก็ลักลอบเอาไปให้ชาวบ้าน เพราะยิปซัมในมุมมองเกษตรกรคือสารปรุงแต่งให้พืชมันเจริญเติบโต โดยเฉพาะพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งมันก็เติบโต แต่มีพิษ”
“ทุกวันนี้ต้นทุนกระบวนการในการบำบัดน้ำเสีย (Wastewater Treatment) สูง จึงมีการใช้วิธีการให้ฝนตก รอให้บ่อบำบัดผสมกับน้ำฝนเจือจางลงไปและไหลล้นออกมานอกบ่อ (Overflow) ปล่อยให้ไหลลงทะเลก็มี ไหลลงแม่น้ำระยองก็มี สุดท้ายก็ลงปากน้ำระยองหมด ที่ปากน้ำระยองจึงเจอค่าน้ำเสียสูงมาก”
ถ้าจะแก้ปัญหาล่ะ ควรทำอย่างไรได้บ้าง?
“ทำ Role model ต้นแบบในการประหยัดน้ำ แต่ต้นแบบนั้นต้องสามารถทำให้น้ำสะอาดได้จริงก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ”
“โรงงานที่ดีก็มี ที่พยายามจะปฏิบัติตามโมเดลเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green) เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ตัวน้ำเสียถ้าจัดการดีๆ มันก็กลายเป็นน้ำดีได้”
ดร.สมนึก ยังได้อธิบายถึงแนวทางการจัดการน้ำหากต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้แก่ ใช้หลัก 6R — Reuse, Recycle, Rethink, Redesign, Regulation
“Reuse กับ Recycle เราคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วน R ที่เหลือก็จะมี
R – Rethink คิดใหม่ ก่อนเริ่มทำอุตสาหกรรมต้องคิดว่าอุตสาหกรรมนั้นใช้น้ำเยอะหรือน้อย
R – Redesign หากจำเป็นต้องทำ เช่น โรงงานน้ำอัดลมที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ระยอง สามารถรีดีไซน์จนลดการใช้น้ำได้ 41% แปลว่าจากเดิมต้องซื้อน้ำใหม่ 100% จะเปลี่ยนเป็นซื้อน้ำใหม่เพียง 59% แล้วน้ำที่เขาใช้เสร็จแล้วจะมีกากของเสียแน่นอน อาจเหลือสัก 15% ก็ไปทิ้งในที่ที่ถูกต้อง
R – Regulation คือออกกฎ เช่น หากใช้น้ำเยอะก็ให้จ่ายภาษีน้ำเยอะ พวกอุตสาหกรรมหรือการเกษตรแปลงใหญ่มีกำลังมากกว่าเกษตรกรก็ต้องช่วยกันประหยัดน้ำ โดยต้องตั้งเป้า ไม่มีการลงโทษแต่ถ้าสามารถประหยัดได้ อาจจะลดเรื่องค่าน้ำให้ 25%”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน R- Regulation ดังกล่าวยังไม่ผ่านกฎหมาย เนื่องจากเป้าหมายของ EEC คือการดึงดูดคนเข้ามาลงทุน หากตั้งภาษีสูงอาจจะไม่มีคนเข้ามาลงทุนเลย
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของการนำระบบบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ คือกระบวนการ Newater ต้นแบบมาจากระบบน้ำดื่มสิงคโปร์ ที่นำเอาน้ำเสียจากการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมมาบำบัดจนสะอาดและกลายเป็นน้ำดื่มได้ แต่ต้นทุนสูง ราคาน้ำก็จะแพง ปัจจุบันบริษัทที่มีโรงบำบัดของตนเองที่ปฏิบัติตามโมเดลนี้คือ Kerry Siam Seaport
แล้วถ้าพูดถึงนวัตกรรมอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังมีอะไรอีกไหม? เช่น ระบบดาวเทียม
“มีและเราก็ทำแล้วด้วย มีอุปกรณ์ตรวจค่าความขุ่นน้ำ BOD COD โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเซนเซอร์ จุ่มลงไปในคลอง ข้อมูลจะโชว์หมดเลย แต่คำถามคือโชว์แล้วยังไงต่อ เราไม่รู้ว่าจุดที่สร้างปัญหา (Point Source) อยู่ตรงไหน ราชการกับหน่วยงานต่างๆ ก็ได้แต่พล็อตกราฟให้ดูว่าเป็นอย่างนี้นะ มันเกิดอะไรขึ้น ใช่ มันรู้ก็จริง แต่แก้ปัญหายังไง ต้องดูแลบำรุงรักษาให้เป็น มันไม่ใช่ง่ายๆ พวกเซนเซอร์พวกนี้ต้องทำความสะอาดทุกๆ กี่วัน แช่น้ำยาอย่างไร หากเซนเซอร์เสียก็แย่อีก”
แล้วปัญหาน้ำมันรั่ว มีความเป็นมาอย่างไร
“เหตุน้ำมันรั่วที่ระยองเมื่อง 9 ปีก่อน เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราระวังเรื่องน้ำมันรั่วมาก ที่ชลบุรีช่วยกันผลักดันประกาศกรมเจ้าท่าปี 64 ว่าเรือทุกลำที่เข้ามา ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน จะต้องมีการล้อมบูม โดยเฉพาะบูมที่มีการขนถ่ายน้ำมันหรือของเหลว”
บูมหรือทุ่นกักน้ำมัน (Oil Boom) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจำกัดคราบน้ำมันไม่ให้แพร่กระจายไปตามกระแสน้ำ แล้วจึงใช้สกิมเมอร์หรือเครื่องดูดน้ำมัน (Skimmer) สูบเอาน้ำมันที่รั่วไหลขึ้นมา
ดร.สมนึกยกตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดีจากตัวอย่างการล้อมบูมที่จังหวัดชลบุรี
“สำคัญมากคือต้องเอาบูมล้อมก่อน แล้วถึงจะขนย้าย น้ำมันรั่วที่หลุดออกมาจากตัวบูม หากมีคลื่นใหญ่ลมจัดจะซัดเข้าฝั่ง เราจะใช้กระดาษซับน้ำมันเข้าช่วย ไม่มีการไปขุดร่องเหมือนเหตุการณ์ SPRC ที่ระยองเมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 กรมเจ้าท่าที่ศรีราชาชลบุรีมีการขนน้ำมันไม่น้อยกว่าระยอง พอมีประกาศกรมเจ้าท่าออกมาใช้ ทุกครั้งกรมเจ้าท่าต้องลงมาถ่ายรูป แล้วก็ทำเป็นเอกสารรายงานมาที่สมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรีตลอดเวลา ไม่มีการลักไก่ ฉะนั้น น้ำมันรั่วแถวชลบุรีจะน้อยมากตั้งแต่ปี 64 ที่ผ่านมา”
“ถ้าเราไม่ทราบว่าจุดรั่ว (Point Source) อยู่ที่ตรงไหนจะให้บริษัทที่เป็นบุคคลที่สามเข้ามาจัดการ โดยการออกค่าใช้จ่ายให้ไปก่อน จัดการล้อมคราบน้ำมันด้วยบูม เอาสกิมเมอร์ดูดขึ้นมา เมื่อก่อนอาจจะมีการใช้สารขจัดคราบไขมัน (Dispersant) แต่เนื่องจากเคยพบคราบคาร์บอนขึ้นมาบนชายฝั่งจากการใช้ในสมัยก่อน ต่อมาจึงสั่งห้ามใช้ในแถบชลบุรี พอแก้ปัญหาเสร็จเก็บเงินหารกันระหว่างบริษัทที่ต้องสงสัยทำรั่วเพราะเราก็ไม่ทราบว่าจุดรั่วอยู่ที่เจ้าใด”
แนวทางทั้งหมดข้างต้นได้ถูกพิจารณาหรือใช้อยู่ในปัจจุบัน การยกระดับให้มีประสิทธิภาพต่อไปก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายกันต่อไปในอนาคต