Environ Fact! เกิดอะไรขึ้นเมื่อน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีดำ

แชร์โพสต์นี้
Facebook
Twitter
Email
แม้บนผิวน้ำจะดูเงียบสงบ แต่ภายใต้ท้องทะเลนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงนับไม่ถ้วน ต้นเหตุในครั้งนี้ไม่ได้มาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างภูเขาไฟระเบิดหรือคลื่นสึนามิ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์

เป็นเวลากว่าหลายปีแล้ว ที่น้ำทะเลในระยองต้องประสบปัญหาน้ำมันปนเปื้อนในทะเล ส่วนหนึ่งพวกเราคงรู้อยู่แล้วว่าเมื่อสัตว์ทะเลได้รับสารเคมีเข้าไป มลพิษเหล่านั้นจะไปตกค้างอยู่ภายในร่างกาย และเมื่อมนุษย์ผู้อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารบริโภคอาหารทะเลเหล่านั้นเข้าไปอีกที สุดท้ายแล้วสารพิษเหล่านั้นก็จะกลับมาสู่ร่างกายของเรา

ทว่าเรื่องไม่ได้มีเพียงเท่านี้ มาดูกันว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วยังสามารถส่งผลร้ายต่อสิ่งมีชีวิตในมิติใดได้อีกบ้าง

?มิติระบบนิเวศทางทะเล

เหล่ากุ้ง หอย ปู ปลา จะดูดซับน้ำมันเข้าไปผ่านการหายใจ ส่งผลให้เนื้อเยื่อ ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบสืบพันธุ์ถูกทำลาย โลมาและวาฬ ไม่สามารถฟอกอากาศจากปอดได้ นอกจากนี้น้ำมันยังเป็นพิษต่อตับ ไต และทำให้เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร

สัตว์ที่เป็นอาหารของผู้ล่าจะมีกลิ่นปนเปื้อนน้ำมัน ส่งผลให้ผู้ล่าจะไม่ล่าเหยื่อ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร รวมถึงหากผู้ล่ากินสัตว์ที่ปนเปื้อนน้ำมันเข้าไป ก็จะทำให้รับสารพิษเข้าไปด้วย นี่ยังไม่นับรวมถึงเหล่าสัตว์ทะเลที่กินคราบน้ำมันเข้าไปโดยตรงและกินพืชทะเลที่ปนเปื้อนน้ำมันเข้าไปอีก

สิ่งมีชีวิตที่บินบนฟ้าอย่างนกทะเลยังพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากพวกมันจะเป็นผู้ล่าสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้แล้ว เมื่อขนของนกทะเลเผลอไปโดนน้ำมันเข้าจะจับตัวกันเป็นก้อน ทำให้ไม่สามารถป้องกันน้ำไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้อย่างปกติ ถ้าพวกมันไม่จมน้ำตายก็ต้องหนาวตายเพราะร่างกายไม่สามารถรักษาอุณหภูมิเอาไว้ได้ หรือไม่ก็จะถูกผู้ล่าฆ่าตายเพราะไม่สามารถบินหนีขึ้นฟ้าได้

ตัวอย่างด้านบนนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าห่วงโซ่อาหารกำลังจะถูกทำลายลงอย่างชัดเจน

? มิติเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชน

ชาวระยองพึ่งพาการประมงเป็นหนึ่งในรายได้หลักเลี้ยงชีพ แม้หลายปีมานี้ ระยองจะถูกพัฒนาให้เป็นเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ แต่อาชีพหลักของเมืองริมชายฝั่งก็คือการเกษตรกรรม การค้าขาย และการประมง วิถีชีวิตที่เคยปฏิบัติกันมาจะพบกับความยากลำบากเมื่อสัตว์น้ำที่เคยจับได้อย่างทุกทีกลับปนเปื้อนไปด้วยน้ำมัน เป็นการทำลายความมั่นคงทางอาชีพของชาวระยองไปโดยไม่รู้ตัว และไม่เพียงเท่านั้น ชาวประมงในพื้นที่อื่นๆ ก็จะได้รับผลร้ายส่งต่อกันมาด้วย เพราะวงจรการจับปลาตามวงรอบฤดูกาลจะหยุดชะงักลง ถ้าหนึ่งในต้นทางอย่างระยองไม่สามารถทำการประมงได้แล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อชายหาดอื่นๆ ด้วย

?ตามหาต้นสายปลายเหตุ ทำไมน้ำมันถึงรั่วได้?

ที่พบเจอกันตามข่าวใหญ่เห็นจะเป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วจากท่อขนส่งและแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม แต่ในความเป็นจริงนั้น น้ำมันสามารถรั่วไหลจากกรณีอื่นๆ ได้อีก ที่พบเจอบ่อยมากที่สุด คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเดินเรือ เก็บกัก หรือสูบถ่ายน้ำมันชำรุด การรั่วไหลระหว่างสูบถ่ายน้ำมันระหว่างเรือใหญ่และเรือเล็กกลางทะเล การสูบถ่ายน้ำมันที่ท่าเทียบเรือ นอกจากนี้ยังมีการลักลอบทิ้งน้ำมันกลางทะเล และการเกิดอุบัติเหตุเรืออัปปาง เป็นต้น

? บทเรียนแก้ปัญหา ที่ผ่านมาประเทศไทยทำอะไรไปแล้วบ้าง

การรับมือกับปัญหาน้ำมันรั่วต้องพิจารณาวิธีแก้ไขจากหลายปัจจัย ทั้งชนิดของน้ำมัน ปริมาณการรั่วไหล ทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำ กระแสลม สภาพอากาศ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในวิธีรับมือ คือ การใช้ทุ่นกักน้ำมัน (Oil Boom) เพื่อขจัดคราบน้ำมัน และควบคุมพื้นที่บริเวณน้ำมันรั่วไหลไม่ให้กระจายไปในวงกว้างตามกระแสน้ำ แล้วจึงทำการดูดคราบน้ำมันขึ้นมาจากพื้นทะเลโดยใช้เครื่องเก็บน้ำมัน (Skimmer)

นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดคราบน้ำมันบนผิวน้ำได้ในเวลาอันสั้น

ตัวอย่างของการแก้ปัญหาโดยใช้สารเคมี คือ เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่อ่าวไทย ในปี พ.ศ. 2556 และ 2565 มีการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (dispersant) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ตะกอนน้ำมันแตกตัว และจมลงสู่ก้นทะเลเพื่อให้สารจุลินทรีย์ในทะเลช่วยย่อยสลายน้ำมันก้อนเล็กๆ นิยมใช้กับแหล่งน้ำลึก ซึ่งถ้าหากมีการนำสารเคมีนี้มาใช้บริเวณแหล่งน้ำตื้น เมื่อนั้นผลเสียก็จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศและวิถีชุมชนชายฝั่งทันที สารเคมีจะถูกพัดเข้าชายหาด อวนและกระชังดักปลาจะเต็มไปด้วยตะกอนน้ำมัน กลายเป็นทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีข้อถกเถียงว่าการใช้สารเคมีนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ ไม่ว่าจะน้ำตื้นหรือน้ำลึก เพราะถึงแม้จะกำจัดคราบน้ำมันบนผิวน้ำไปได้ในเวลาอันสั้น แต่อาจเป็นการทำลายระบบนิเวศใต้ทะเลต่อไปในระยะยาวอยู่ดี

มีทางอื่นใดอีกบ้างไหม ที่จะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาลง คุณคิดว่าเราขาดอะไรไป ระบบตรวจสอบที่ดี สารอื่นที่ใช้ทดแทน หรือคุณมีความคิดอื่นที่ต้องการแชร์


อ้างอิง

  • พูดในนามของสัตว์ ผลกระทบจากน้ำมันรั่วที่มีต่อสัตว์ทะเล โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร https://www.seub.or.th/bloging/news/rayong-oil-spill-2/
  • นักสิ่งแวดล้อม​ ห่วงสารสลายคราบน้ำมัน​ Dispersant กระทบทะเล ระยะยาว https://theactive.net/news/20220129-3/

ข่าวสาร/บทความล่าสุด

ติดตามพวกเราได้ที่