ปลานกแก้วออกหากินในเวลากลางวัน นอนหลับในเวลากลางคืนตามซอกหิน ก่อนนอนจะปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายคล้ายกับดักแด้ (Cocoon) เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น หนอนพยาธิหรือปรสิตที่จะมาทำร้ายรบกวน
ปลานกแก้ว มีชีวิตเฉลี่ย 7 ปี สามารถเปลี่ยนสีและเพศตลอดช่วงชีวิต ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการพัฒนา ปลานกแก้วอาศัยเป็นฝูงขนาดใหญ่ มีตัวผู้ที่โดดเด่นเป็นจ่าฝูง ถ้าจ่าฝูงตายลง หนึ่งในตัวเมียจะเปลี่ยนเพศเป็นตัวผู้และรับบทบาทเป็นจ่าฝูงต่อไป
ปัจจุบันมีการจับปลานกแก้วในแนวปะการังธรรมชาติ มาเลี้ยงในตู้ปลาและนำมาทำอาหาร นั่นเป็นภัยคุกคามต่อปลานกแก้ว ทำให้จำนวนปลานกแก้วลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง
ข่าวการจับปลานกแก้วของชาวต่างชาติที่เกาะพีพีจึงสร้างความรู้สึกเจ็บปวด โกรธเคือง และเสียใจ ต่อผู้ที่พบเห็น ทั้งคนท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และคนที่รับข่าวสารเป็นจำนวนมาก และขณะนี้มีการเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับชาวต่างชาติคนดังกล่าว
EnvironHack ขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันรณรงค์การท่องเที่ยวด้วยจิตอนุรักษ์ คือการรับรู้ถึงความสวยงามของธรรมชาติโดยไม่คุกคาม ทำร้าย ไม่จับฉวยเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศน์ พึงระลึกอยู่เสมอว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่า ร่วมกันรักษา ปกป้องดูแล และหวงแหนธรรมชาติให้อยู่ต่อไปนานที่สุด
รวมถึงร่วมลดการบริโภคปลานกแก้ว ไม่สนับสนุนร้านอาหารที่ทำอาหารจากปลานกแก้ว และไม่สนับสนุนให้มีการจับปลานกแก้วมาเลี้ยงในตู้
ในวันนี้ เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของการนำทางสังคมนี้ เพื่อรักษาความสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติ เรามาร่วมมือกันค่ะ
*ขอบคุณข้อมูลที่มีประโยชน์ จากเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งค่ะ